“หอการค้า”ชงแผนบริหารเศรษฐกิจ เติมกำลังซื้อ-ประกาศโควิดโรคประจำถิ่น

“หอการค้า”ชงแผนบริหารเศรษฐกิจ เติมกำลังซื้อ-ประกาศโควิดโรคประจำถิ่น

หอการค้าไทย สรุปข้อเสนอแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อราคาพลังงานและเงินเฟ้อทั่วโลก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ได้กำหนดนโยบายการดำเนินงาน ต่อเนื่องจากนโยบายเร่งด่วน 99 วัน ที่ได้ดำเนินการจนสำเร็จเมื่อปี 2564 เพื่อเป็นแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะ โควิด-19 ที่ยังระบาด และมีมาตรการหลายอย่างที่ทำให้เดินหน้าเศรษฐกิจไม่เต็มที่ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั่วประเทศให้เกิน 70% แล้วประกาศเป็น “โรคประจำถิ่น” ให้เร็ว 

“หากเป็นไปได้ควรประกาศหลังสงกรานต์นี้ หากประกาศวันที่ 1 ก.ค.นี้ อาจไม่ทัน เพราะเราพึ่งการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนกับต่างชาติ การประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมา”

นอกจากนี้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้องเผชิญราคาสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อสูง แม้ว่ารัฐบาลมีแผนลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนแต่ยังไม่พอ และอาจไม่ทันสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงนี้ ซึ่งอาจเกิดภาวะ Stagflation แต่ผู้ประกอบการหลายรายพยายามตรึงราคาสินค้าให้มากที่สุด เพราะหากขึ้นราคาแต่คู่แข่งไม่ขึ้นอาจเสียส่วนแบ่งการตลาด

หอการค้าไทย เห็นว่า รัฐบาลควรต่อโครงการคนละครึ่งไปจนถึงสิ้นปี 2565 วงเงินแต่ละเฟสอย่างน้อยเฟสละ 1,500 บาทต่อคน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้ต่อเนื่อง โดยมาตรการคนละครึ่งเฟส 4 จะหมดรอบในเดือน เม.ย.นี้ มีเม็ดเงินหมุดเวียนแล้ว 64,000 ล้านบาท ถือว่าบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนได้ และจะช่วยลดแรงกดดันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากภาวะสินค้าราคาแพงได้ด้วย  

ส่วนการเก็บภาษีที่ดินและส่งปลูกสร้าง ควรขยายเวลาการเก็บเต็มจำนวนออกไป 2 ปี แล้วทยอยเก็บเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได จะลดภาระให้ภาคเอกชนและประชาชน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ภาษีใหม่เป็นการประเมินจากพื้นที่ แต่ไม่ได้พิจารณาจากรายได้ที่ยังไม่กลับมา รวมถึงประชาชนที่รายได้ยังไม่กลับมาเช่นกัน

“ขณะนี้เครื่องจักรที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ปีนี้ คือ การส่งออก ซึ่งการดูแลค่าเงินบาทและการอำนวยความสะดวกจะเป็นปัจจัยให้การส่งออกเดินหน้าดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีน”

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) แต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณา เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจรวมจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ

 

หอการค้าไทย เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นแบบ K-Shaped โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นคาดว่า SME จำนวน 1 ใน 5 จะไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง 

“เราคงช่วยเหลือทุกกลุ่มไม่ได้ จึงต้องมุ่งเป้าไปกลุ่มเร่งด่วนก่อน กลุ่มธุรกิจที่อยู่ K ขาล่าง ที่ส่วนใหญ่เป็น SME ช่วยให้ลงไปมากกว่านี้ เพื่อเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้” 

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ภายใต้แนวทาง 4R มีข้อเสนอ ดังนี้

1.Restart สร้างใหม่ประเทศจำเป็นต้องสร้างธุรกิจใหม่ต่อยอดจากธุรกิจเดิม 

2.Reimagine คิดใหม่ เพิ่มมูลค่า และสร้างความได้เปรียบ ต้องคิดรูปแบบ Business Model 

3.Recover พลิกฟื้น เราต้องร่วมมือกันเพื่อประคองธุรกิจ รอโอกาสพลิกฟื้น 

4.Reform ตื่นตัวเพื่อให้ปรับเร็ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันปฏิรูปการทำงานใหม่ โดยเฉพาะเรื่องระเบียบหรือกฎหมายที่ล้าสมัย ช่วยรัฐบาล Transform สู่ E-Government

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตสินค้าอื่นปรับขึ้นทั้งราคาน้ำมัน วัตถุดิบ หากมีการขึ้นค่าแรงงานเข้ามาเพิ่มเติมอีก ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอาจไปไม่รอด ดังนั้น ภาครัฐต้องออกมาตรการมากระตุ้นกำลังซื้อ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าที่ทำได้ทันที 

ส่วนระยะต่อไป กระบวนการผลิตหากไปได้ตามปกติ หรือ มีนวัตกรรมมาพัฒนาให้ต้นทุนหารผลิตต่อหน่วยลดลง ซึ่งเป็นไปตามปกติของภาคธุรกิจ อาจจะมีโอกาสที่ ร่วมกันพิจารณา 3 ฝ่าย ผ่าน ไตรภาคี ก็อาจจะมีโอกาสปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในอนาคต แต่มองว่า ขณะนี้ ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะภาคธุรกิจกำลังถูกกระทบหนักจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น

นายสมบัติ ธีระตระกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแรงงาน แม้การขึ้นค่าแรงงานจะส่งผลทำให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำภาคอุตสาหกรรมก็จะหนีการใช้แรงงานคนไปใช้โรบอทมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานคน ซึ่งการปรับค่าแรงมีทั้งบวกและลบ