ออเดอร์ ‘เตาอั้งโล่’ ทะลัก! หลัง LPG ขยับราคา

เตาอั้งโล่ อุปกรณ์หุงอาหารแต่โบราณ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ผลจากการที่ก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา ยิ่งทำให้เตาอั้งโล่ขายดียิ่งขึ้น จนโรงงานผลิตไม่ทัน หลังมีออเดอร์ทะลักเข้ามาทั่วภาคใต้ แถมยังมีลูกค้าถ่อมารับสินค้าถึงโรงงาน แทนที่ต้องไปส่งถึงบ้านเหมือนเมื่อก่อน

จากสถานการณ์ก๊าซหุงต้มที่ปรับราคาสูงขึ้น ยิ่งทำให้ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อน ในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และข้าวของแพงทุกหย่อมหญ้านั้น ที่โรงผลิตเตาอั้งโล่ควนธานี ตั้งอยู่เลขที่ 11 หมู่ที่ 1 ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งยังคงยึดอาชีพที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน พบว่า ขณะนี้คนงานซึ่งมีผู้สูงวัยรวมอยู่ด้วย กำลังเร่งมือผลิตเตาอั้งโล่ เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าในต่างจังหวัดที่มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเตาอั้งโล่ ถือเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน และผู้คนต่างเชื่อกันว่าการหุงหาอาหารด้วยเตาถ่าน จะได้รสชาติที่อร่อยกว่าการใช้เตาแก๊ส ประกอบกับการที่ก๊าซหุงต้มปรับราคาสูงขึ้น จึงทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งหวนกลับมาใช้เตาอั้งโล่กันมากขึ้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

โดย นางสาวสิรินยา ล้วนดี อายุ 37 ปี เจ้าของเตาอั้งโล่ควนธานี บอกว่า นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด 19 ธุรกิจของตนเองไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่กลับมีแนวโน้มดีขึ้น และมีการผลิตไม่ทันด้วยซ้ำ จากที่เคยต้องไปส่งให้ลูกค้าถึงบ้าน กลับมีลูกค้าเข้ามารับสินค้าเองถึงโรงงาน ยิ่งแก๊สหุงต้มมีการปรับขึ้นราคา ยิ่งทำให้เตาอั้งโล่ขายดี มียอดเพิ่ม เฉลี่ยต่อเดือนที่ผลิตได้ประมาณ 3,500 ลูก ทั้งเตาอั้งโล่ขาว ขนาดเบอร์ 1-5 ซึ่งนิยมใช้กันในครัวเรือน และเตาอั้งโล่ดำ ขนาดเบอร์ 1-4 และ 0 กับ 9 ซึ่งแบ่งไปตามลักษณะการใช้งาน เหมาะกับแม่ค้าพ่อค้านำไปทำกับข้าวขาย โดยเตาอั้งโล่เหล่านี้ มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ลูกละ 100 บาท ไปจนถึง 300 บาท

สำหรับวัสดุในการผลิตเตาอั้งโล่ จะใช้ดินเหนียวเป็นหลัก ซึ่งมีการปรับราคาจากเดิมขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน และยังต้องปรับค่าแรงให้คนทำงานเพิ่มตามออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นสูงด้วย ซึ่งตอนนี้มีคนงานทั้งหมด 12 คน โดยเป็นญาติ ๆ มาช่วยกันทำ เป็นธุรกิจในครอบครัว แบ่งเป็นคนปั้น 3 คน ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญที่ทำมานาน ที่เหลือเป็นคนเผา คนขนส่ง และคนช่วยใส่ถัง ส่วนตลาดเน้นส่งลูกค้าขาประจำในต่างจังหวัด เช่น กระบี่ สุราษฎร์ฯ พัทลุง สงขลา และภูเก็ต เท่านั้น เนื่องจากตอนนี้โรงงานผลิตสินค้าไม่ทัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้ารายใหม่ ประกอบกับตนเองมีช่างที่มีฝีมือและประสบการณ์ผลิตเตาอั้งโล่มานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงทำให้เตาอั้งโล่ที่ออกมามีคุณภาพดี จนเป็นที่ต้องการของตลาด คาดว่าในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เนื่องจากทีมคนปั้นมีอายุเยอะแล้ว