“อพท.” คาดปีนี้ 143 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ ท่องเที่ยวเสริมรายได้กว่า 54 ล้านบาท

“อพท.” คาดปีนี้ 143 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ ท่องเที่ยวเสริมรายได้กว่า 54 ล้านบาท

“อพท.” คาดปี 65 กว่า 143 ชุมชนท่องเที่ยวใน “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” กระจายรายได้เพิ่มเป็น 54 ล้านบาท เผย 3 พื้นที่จ่อเข้าคิวประกาศพื้นที่พิเศษปีนี้ พร้อมระบุเนื้อหอมหลายพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษด้วย

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จากแผนการสร้างต้นแบบชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ CBT Thailand ของ อพท. ซึ่งปัจจุบันดำเนินการรวม 284 ชุมชน เมื่อปี 2564 มีชุมชนที่มีศักยภาพพร้อมเสนอขายแพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 116 ชุมชน สร้างรายได้รวม 51.9 ล้านบาท

“ส่วนปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนชุมชนที่มีศักยภาพพร้อมเสนอขายแพ็คเกจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 27 ชุมชน เป็นจำนวนรวม 143 ชุมชน สร้างรายได้เพิ่มเป็น 53-54 ล้านบาท ส่วนอีก 168 ชุมชนที่เหลืออยู่ในกระบวนการทดสอบสินค้าท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขายในอนาคต”

ทั้งนี้ อพท.จะผลักดันชุมชนที่ผ่านการพัฒนาแล้วเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุมนิทรรศการไม่น้อยกว่า 15 ชุมชน ครอบคลุม 6 พื้นที่พิเศษและ 15 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์)

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destinations Top 100) จำนวน 2 แหล่ง คือ เมืองเก่าน่าน จ.น่าน และเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย และอีก 1 แห่งคือ จ.เพชรบุรี ได้รับเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Gastronomy) ของยูเนสโก

“เมื่อปี 2564 อพท.ได้ส่งจังหวัดน่าน สุพรรณบุรี และเพชรบุรี เพื่อให้ยูเนสโกพิจารณาเป็นเมืองสร้างสรรค์โลก ปรากฏมีแค่เพชรบุรีที่ได้รับเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ทำให้ในปี 2565 อพท.จะต้องจับจังหวัดน่านและสุพรรณบุรีแต่งตัวใหม่อีกที เพื่อให้ได้รับการพิจารณาเป็นเมืองสร้างสรรค์โลกในปี 2566 ซึ่งจังหวัดน่านจะเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์โลกด้านหัตถกรรม ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีจะเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์โลกด้านดนตรี”

โดยสองจังหวัดดังกล่าวมีต้นทุนด้านวัฒนธรรมอยู่แล้ว และรู้ว่าต้องปรับแก้ไขส่วนไหนเพิ่มเติม เริ่มจากการสร้างการรับรู้ระดับนานาชาติมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ต้องมีคลังข้อมูล เช่น หอเกียรติยศ พิพิธภัณฑ์ และอีเวนต์ประจำปีที่เกี่ยวข้อง อย่างจังหวัดน่านก็ต้องมีคลังข้อมูลและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องด้านหัตถกรรมในเมือง และอาจต้องปรับภาพลักษณ์เมืองให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว น่านยังได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2021 จากหลักสูตร CBT Integrated สาขา Human Capital Development Initiative ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติ จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ PATA ชุมชนที่ อพท. พัฒนา ได้รับรางวัลส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือกินรี (Thailand Tourism Awards 2021) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน 27 ชุมชน และการที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ประกาศให้ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพระดับโลก โดยได้รับการบรรจุใน Upgrade Programme ภายใต้รางวัล UNWTO Best Tourism Villages 2021

นอกจากนั้นในปี 2564 อพท.ยังได้ทำการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return On Investment : SROI) โดยเก็บข้อมูลจากชุมชนนำร่อง 10 แห่ง พบว่าโครงการที่ดำเนินการขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลานาน สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบที่สูง เนื่องจากมีการลงทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่อมมีอัตราการยอมรับมาตรการโครงการและนำไปปฏิบัติมากขึ้น

อาทิ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556-2564 อพท.ได้ใช้งบประมาณในการลงทุนพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวรวม 5.3 ล้านบาท พบว่าสามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้ 2.01 เท่า คิดเป็นเม็ดเงินกระจายในชุมชน 10.84 ล้านบาท ส่วนชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลกกสะทอน จ.เลย ทาง อพท.ได้ใช้งบประมาณในการลงทุนฯ 5.8 ล้านบาท พบว่าสามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้ 2.13 เท่า คิดเป็นเม็ดเงินกระจายในชุมชน 12.4 ล้านบาท

นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านภารกิจการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท. มีพื้นที่เตรียมเสนอ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา (จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช) พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ

และยังมีพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ จำนวน 7 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพะเยา พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม จังหวัดราชบุรี จังหวัดตรัง และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

โดยทุกพื้นที่เตรียมการประกาศฯ อพท. จะดำเนินการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการศึกษาและประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยการประกาศพื้นที่พิเศษของ อพท. ต้องได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ 2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2562 มาตรา 3 และมาตรา 35 

เบื้องต้นในปีงบประมาณ 2565 นี้ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (พพท.) เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ เร็วๆนี้ ส่วนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามลำดับต่อไป