มองทุกมิติ "รับมือ" เศรษฐกิจทรุด

มองทุกมิติ "รับมือ" เศรษฐกิจทรุด

ความท้าทายของรัฐบาล ในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ และยากสำหรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ที่จำเป็นต้อง “มองการแก้ปัญหา” ให้ครบทุกมิติ รอบด้าน เพื่อพยุงเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังจะ “ดับลง” เอาไว้ให้ได้

ผ่านไตรมาสแรกของปี 2565 ไปอย่างทุลักทุเล ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โควิด19 ยังระบาดหนัก สงครามที่เหมือนว่าจะจบแต่ก็ไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้มากนัก ส่งผลให้การลงทุน กิจกรรมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเซื่องซึม

วิกฤติพลังงานที่ยังตามหลอกหลอน แม้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกจะลดลงมาบ้างแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่า วิกฤติพลังงานจะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ ที่สั่นคลอนรัฐบาลและระบบเศรษฐกิจของไทยไปอีกระยะหนึ่ง

ขณะที่ มาตรการระยะสั้น หรือมาตรการเฉพาะหน้าที่รัฐบาลปล่อยออกมาเป็น 10 มาตรการนั้น อาจจะส่งผลดีบ้างในช่วงแรก แต่ก็ไม่ควรมีแค่เท่านี้ โดยเฉพาะในระยะยาวภาพของอนาคตครึ่งปีหลัง หากระบบเศรษฐกิจไทยไร้ซึ่งมาตรการกระตุ้น เราจะใช้เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวไหนขับเคลื่อน 

“การท่องเที่ยว” ที่เคยเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย ก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ แม้จะมีความพยายามผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หากขณะนี้ จีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของไทย ยังคงล็อกดาวน์ตัวเอง และบางประเทศก็ยังคงจำกัดการเดินทาง เท่ากับว่าเครื่องยนต์ตัวความหวังที่จะขับเคลื่อนยังคงติดๆ ดับๆ

ประเทศไทยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ 7 ล้านคน แต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพียงแค่ 4 แสนคน ดังนั้น ถ้าหากตัวเลขอยู่ในระดับนี้ ทั้งปีเราจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 1.6 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

ขณะที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยปี 65 จะขยายตัว 3.5-4.5% ซึ่งตัวเลขจะขยับขึ้นมากกว่านี้ หากรัฐบาล และภาคเอกชน ผนึกกำลังร่วมมือ ก็อาจเพิ่มการเติบโตได้อีกอย่างน้อย 0.1% - 0.3%

ส่วนการส่งออกที่เป็นอีกเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนนั้นปี 2564 ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัว 17% ขณะที่ 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกขยายตัวได้กว่า 12% รมว.คลัง เชื่อว่า หากดันให้ปีนี้เติบโตได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้สัก 5% เป็น 10% อาจช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก และมีความท้าทาย เพราะหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์สภาพคล่องของผู้ประกอบการได้ 

ต้องยอมรับว่า การส่งออกของไทยปีนี้ เผชิญกับความผันผวน ความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้สถานการณ์แย่ลง ผู้ส่งออกของไทยต้องมอนิเตอร์ ติดตามปัจจัยที่ได้รับผลกระทบที่ซับซ้อนและเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ การขาดแคลนวัตถุดิบพื้นฐาน ทั้ง ปุ๋ย อาหารสัตว์ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ธาตุเหล็กหายาก ต้นทุนการขนส่งที่สูง จากการขนส่งที่ล่าช้า สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ และยากสำหรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ที่จำเป็นต้อง “มองการแก้ปัญหา” ให้ครบทุกมิติ รอบด้าน เพื่อพยุงเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังจะ “ดับลง” เอาไว้ให้ได้บนเครื่องไม้เครื่องมือ และงบประมาณที่มีอย่างจำกัด