EIC หวั่นสงครามรัสเซีย-ยูเครนจบยืดเยื้อ ฉุดจีดีพีไทยดิ่งเหลือ 1.3%

EIC หวั่นสงครามรัสเซีย-ยูเครนจบยืดเยื้อ ฉุดจีดีพีไทยดิ่งเหลือ 1.3%

EIC ห่วงสงครามยืดเยื้อ แซงก์ชั่นยาวถึงปี66 ทุบเศรษฐกิจไทยดิ่งเหลือ 1.3% เร่งรัฐอุ้มประชาชนจากผลกระทบเงินเฟ้อ น้ำมัน

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจไม่ได้ดูดีเหมือนที่หลายฝ่ายคาดไว้ เหมือนปลายปี 2564 เพราะปัจจุบันเราอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงมากมาย ที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากความขัดแย้งรัสเซียยูเครน เงินเฟ้อ สถานการณ์โควิด-19 ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ต้องปรับ “มุมมอง” ภาพเศรษฐกิจไทย ปี 2565 ใหม่ทั้งหมด

     เช่นเดียวกันกับ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)” ที่ออกมาปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้
 

      “ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุด EIC ได้มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2565 ใหม่

      การคาดการณ์ “จีดีพี” ขยายตัวต่ำลง อยู่ภายใต้ 2 ซินาริโอ ด้วยกัน กรณีแรก กรณีพื้นฐาน Base Case มองว่าจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัว 2.7% จากเดิมที่คาดขยายตัว 3.2% ปีนี้ ภายใต้สงครามรัสเซียยูเครน ที่คาดว่าจะยืดเยื้อและคาดจะจบได้ในครึ่งปีหลัง 2565 แต่แม้สงครามจะจบลงมองว่า การ “แซงก์ชั่น”จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

EIC หวั่นสงครามรัสเซีย-ยูเครนจบยืดเยื้อ ฉุดจีดีพีไทยดิ่งเหลือ 1.3%       เหล่านี้จะกดดันราคา “พลังงาน”ให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent จะอยู่ที่ 110.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

      ขณะที่การท่องเที่ยว อีไอซี มีการปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 5.7 ล้านคน จาก 5.9 ล้านคน หลักๆมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวยุโรปที่คาดช้ากว่าคาด จากผลกระทบจากรัสเซียยูเครน ส่วนเงินเฟ้อ อยู่ภายใต้การคาดการณ์ที่สูงขึ้น 4.9% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 14 ปี

      กรณีเลวร้าย (Worst Case) มองว่า สงครามรัสเซียยูเครน จะไม่จบง่าย จะยืดเยื้อออกไปมากกว่า 3-6 เดือน และมีโอกาสที่สงครามจะขยายวงกว้างสู่ประเทศอื่นๆมากขึ้น เหล่านี้จะทำให้การแซงก์ชั่นลากยาวไปถึงปี 2566

    ผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันให้ปรับตัวขึ้นแรง ไปสู่ 133 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ และส่งผ่านไปสู่เงินเฟ้อให้ไปอยู่ระดับที่ 6.3% ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญมาก ดังนั้นคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 1.3%

     อย่างไรก็ตามหากดูปัจจัยที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จากราคาพลังงานที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ภายใต้สงครามรัสเซียยูเครน อาจส่งผลให้เกิดการ “ชะงักงันของอุปทาน” ในภาคการผลิตและขนส่งได้

     “เงินเฟ้อ”ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีผลกดดันมากต่อการจับจ่ายใช้สอย และอาจส่งผลทำให้การบริโภคในระยะข้างหน้าลดลงได้ เหล่านี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตช้าลง

      หากดูผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันพบว่า เริ่มเห็นการส่งผ่าน ด้านราคาไปสู่สินค้าอื่นๆ มากขึ้น ไม่เฉพาะพลังงาน และหมูเท่านั้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคาอาหารสดอื่นๆ อาหารนอกบ้านยังแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

      โดยหากดูสินค้าในตะกร้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีถึง 260 รายการ หากเทียบกับสินค้าในตะกร้าทั้งหมดที่ 430 รายการ

     เหล่านี้มีผลกระทบมากที่สุด สำหรับ “ผู้มีรายได้น้อย” ที่จะถูกกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% แรกของประเทศ มีค่าใช้จ่ายในหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงถึง 40.7% หากเทียบกับกลุ่มที่มีรายได้สูง ที่มีสัดส่วนในการใช้จ่ายหมวดนี้เพียง 24.7% เท่านั้น

     "ปัจจัย"เงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีผลพ่วงไปสู่การบริโภค การใช้จ่ายต่างๆให้ลดลงได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งไม่สอดรับกับรายได้ "ค่าแรง"ที่มีแนวโน้มลดลง โดยหากดูค่าแรงในกทม. พบว่าปรับลดลงถึง -10.3% หากเทียบกับรายได้ที่แท้จริงของทั้งประเทศที่เฉลี่ย -0.7%

       ไม่เท่านั้น ในภาคการเงิน เรากำลังเจอกับ "ภาวะการเงินตึงตัว จากการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นแรง เหล่านี้ส่งผลกระทบไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมเงินระยะยาวของภาครัฐและเอกชนได้

      นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทย ยังอยู่ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่สูง ที่ฉุดรั้งการใช้จ่ายการบริโภคให้ลดลง โดยอีไอซีคาดการณ์ว่า หนี้ครัวเรือนปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกราว 3-5% โดยคาดจะอยู่ในกรอบ 88-90% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง ซึ่งยิ่งสร้างความเปราะบางกับให้ภาคการเงินไทย

     ดังนั้นจากภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน มองว่ากว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ได้อาจยืดเวลาออกไปอีกจากการคาดการณ์เดิม ไปเป็น ครึ่งปีหลัง 2565 หรือไตรมาส 3 ปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเห็นการกลับไปฟื้นตัวเหมือนก่อนหน้าได้ราว ต้นปี ถึงกลางปี 2565

      “วันนี้เราเข้าข่าย สู่ภาวะ Stagflation แล้วในเบื้องต้น คือเศรษฐกิจชะลอตัวเงินเฟ้อสูง แต่ยังไม่ได้เต็มรูปแบบ ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับไปเหมือนจุดเดิมก่อนโควิด แม้จะไม่ได้ต่ำมากหรือติดลบ แต่ก็ต่ำกว่าที่คาด และเงินเฟ้อก็สูงเกินค่าเฉลี่ยในอดีต ปีนี้เราคาด 4.9% เหล่านี้ส่งผลให้กำลังซื้อซบเซา คนระดับล่างได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลเฉพาะจุดกลุ่มนี้”

     “การดำเนินนโยบายการเงิน” อีไอซี มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตลอดทั้งปี จากการให้ความสำคัญและน้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงิน  ประกอบกับเราอยู่ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งสร้างผลกระทบ ทำให้ภาระต้นทุนของผู้กู้มากขึ้น เหล่านี้อาจนำไปสู่ “การผิดนัดชำระหนี้”ที่สูงขึ้น และมีปัญหาลามไปสู่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ภาพของค่าเงินบาท มองว่า ระยะสั้นเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า จากแรงกดดันของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น คาดเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ กรอบ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปลายปี จะเริ่มเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ สู่ระดับ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

    “ยรรยง”กล่าวต่อถึงกรณีที่ภาครัฐ  มีการออกมาตรการลดค่าครองชีพ 10 มาตรการล่าสุด มองว่าเป็นการเดินมาที่ถูกทางแล้ว แต่ควรช่วยเหลือควรทำให้ถูกจุด เฉพาะเจาะจง ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ มากกว่าหว่านแห 

     เพราะจากการสำรวจการเข้าไปตรึงราคาพลังงานที่ผ่านมา พบว่า คนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ ผู้ที่มีรายได้สูง 20% ที่ได้รับประโยชน์จากการตรึงราคาน้ำมันสูงถึง  9.6 เท่า หากเทียบกับคนที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้นการอุดหนุนประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่คนจน

     สิ่งที่กังวล หากมีการตรึงราคาน้ำมันไปเรื่อยๆ ภาครัฐอาจหมดหน้าตัก โดยคาดว่าปีนี้ภาครัฐต้องใช้เงินชดเชยกองทุนน้ำมันถึง 1.7 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อเงินหมดและปล่อยให้น้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด ราคาน้ำมันอาจกระโดดขึ้นแรง อาจส่งผลทำให้ เศรษฐกิจ เข้าสู่ “ภาวะชะงักงัน”ได้  ดังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง 

     ไม่เท่านั้น การตรึงราคาพลังงานไปนานๆ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของคนไทยต่ำลงเรื่อยๆ ไม่นำไปสู่การตระหนักในการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคต