"ทองคำ" Comeback..! หลุมหลบภัย "เงินเฟ้อ" พุ่ง

"ทองคำ" Comeback..! หลุมหลบภัย "เงินเฟ้อ" พุ่ง

ทั่วโลกตกอยู่บนความเปราะบาง !! นักลงทุนโยกเงินลดเสี่ยง ซบสินทรัพย์ปลอดภัยที่เป็นเหมือน “หลุมหลบภัย” หนึ่งในนั้นยกให้ตลาด “ทองคำ” เข้าคอนเซ็ปต์ Safe Haven “กูรู” มองแนวโน้มราคาย่อตัวเพื่อรอจังหวะ “เทคออฟ” อีกครั้ง จาก 2 ปัจจัย “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ปะทุ–เงินเฟ้อพุ่ง”

พลันที !! ความไม่แน่นอนปะทุ สะท้อนผ่านทั่วโลกต้องเผชิญความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” เมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังรัสเซียประกาศเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ทำให้เกิด “ความกังวล” (Panic) ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก่อนที่ทุกอย่างจะเบาบางลง...

ทว่า แม้ความกังวัลดังกล่าวจะลดน้อยลง หลังทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการเจรจากันหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังคงไร้สัญญาณข้อสรุปยุติในเร็วๆ นี้ ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ “สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven) อย่าง “ทองคำ” จึงถือเป็นแรงผลักดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกและไทยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ดีดตัวรุนแรงทะลุ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ !!

เช่นเดียวกับราคาทองคำในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น “ทุบสถิติสูงสุดใหม่” เป็นประวัติการณ์ผ่าน 32,000 บาทต่อบาททองคำ ก่อนจะเริ่มมีแรงขายสลับออกมาเป็นระยะ และอีกส่วนหนึ่งราคาทองตอบรับกับทิศทาง "เงินเฟ้อ" หลังต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนพลังงานสูงขึ้น สะท้อนผ่านเงินเฟ้อสหรัฯ สูงสุดในรอบ 40 ปี ยุโรปมีเงินเฟ้อสูงสุดใน13 ปี ขณะที่ไทยคาดว่าจะสูงสุดในรอบ 13 ปีเช่นกัน 

ดังนั้น มาตรการลดเงินเฟ้อพุ่งสูง คือ ต้องปรับขึ้น “อัตราดอกเบี้ย" บ่งชี้ผ่านคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กำลังจะเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนตลอดทั้งปีนี้และมีแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยจะสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 

ดังนั้น "ปัจจัยบวก" ดังกล่าวข้างต้น ส่งสัญญาณแนวโน้มราคาทองคำยังอยู่ในภาวะ "ขาขึ้น" ต่อไป ! 

“ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก มีมุมมองต่อราคาทองคำให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ปัจจุบันแม้ราคา "ทองคำ" อยู่ในภาวะ “ย่อตัว” ลงมา แต่เป็นการย่อตัวเพื่อรอจังหวะ “เทคออฟ” (ขึ้นต่อ) เนื่องจากยังไม่ได้หมดรอบขาขึ้นของทองคำ บ่งชี้ผ่าน 2 ปัจจัยหลักคือ “สงคราม-เงินเฟ้อ” ที่มีโอกาสทำให้ราคาทองทุบสถิติสูงสุดเดิมเมื่อเดือนมี.ค.2565 ได้ !! 

โดยประเมินบนสมมุตฐานสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขยายวงกว้างออกไปในหลายประเทศและยืดเยื้อ แต่ยังไม่ถึงระดับสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ว่าสถานการณ์ยืดเยื้อดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ดังนั้น ราคาทองคำมีโอกาสทะลุจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำได้ 32,000 บาทต่อบาททองคำ แต่หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขยายวงกว้างเป็นระดับสงครามโลกตอนนั้นก็ประเมินไม่ได้ว่าราคาทองคำจะวิ่งไปหยุดที่ราคาไหน ? 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ “ราคาทองคำ” ประจำวันที่ 25 มี.ค. 2565 ราคาทองคำยังเคลื่อนไหวผันผวน โดยราคาเปลี่ยนแปลง 7 รอบ ตามประกาศของ “สมาคมค้าทองคำ” ล่าสุดครั้งที่ 7 ราคาทองคำแท่ง (รับซื้อ) บาทละ 30,950 ทองคำแท่ง (ขายออก) บาทละ 31,050 บาทต่อบาททองคำ ราคาทองรูปพรรณ (รับซื้อ) บาทละ 30,395.80 บาทต่อบาททองคำ ทองรูปพรรณ (ขายออก) บาทละ 31,550 บาทต่อบาททองคำ ทั้งนี้ ราคาทองคำรวมปรับเพิ่ม 200 บาท 

“พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน มี.ค. 2565 อยู่ที่ 76.20 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 6.06 จุด หรือคิดเป็น 8.64% จากระดับ 70.14 จุดในเดือน ก.พ.65 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมัน ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และแรงซื้อเก็งกำไร

สำหรับคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน มี.ค.65 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 315 ตัวอย่าง พบว่า 41% จะซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 30% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ และอีก 29% ยังไม่ซื้อทองคำ

ขณะที่ผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน มี.ค.65 จะเพิ่มขึ้นมีจำนวน 8 ราย เชื่อว่าใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ก.พ.65 มีจำนวน 3 ราย และเชื่อว่าจะลดลงมีจำนวน 2 ราย

ส่วนคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน มี.ค.65 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,870-2,033 ดอลลาร์/ออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 28,800-31,200 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.16-33.45 บาท/ดอลลาร์

โดยการลงทุนทองคำในเดือน มี.ค.65 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่นานาประเทศคว่ำบาตรรัสเซียอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้ทัน

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังคงตึงเครียด แนะนำให้นักลงทุนถือครองต่อไป และอาจแบ่งขายทำกำไรบางส่วน รวมถึงให้ติดตามการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกด้วย