“อาคม”มั่นใจตลาดหุ้นไทยยืดหยุ่นรับความผันผวนโควิด-19

“อาคม”มั่นใจตลาดหุ้นไทยยืดหยุ่นรับความผันผวนโควิด-19

“อาคม”มอบนโยบายก.ล.ต.นำแผนพัฒนาฟินเทคผนวกแผนพัฒนาตลาดทุนระยะ 5 ปี มั่นใจตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นรับความผันผวนที่เกิดจากโควิด-19 เผยปี 64 ตลาดทุนไทยโต 1.2 เท่าของจีดีพี มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงสุดในตลาดอาเซียนเป็นปีที่ 10

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวมอบนโยบายสำหรับการพัฒนาตลาดทุนไทยในระยะ 5 ปี ระหว่างการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อนโยบายการพัฒนาตลาดทุนไทยกลไกการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์วันนี้(25มี.ค.)โดยให้ผนวกแผนฟินเทคเข้าไปในแผนพัฒนาตลาดทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการนำหลักคิดและกลไกบล็อกเชนมาปูพื้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตลาดทุนไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบและติดตามได้ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึง บริการใหม่ๆเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งทุน

ทั้งนี้ ได้มอบแนวทาง 5 ด้านให้แก่สำนักงานก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันแผนพัฒนาตลาดทุนไทยในช่วงปี 2565 ถึง 2569 ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนผ่านกลไกตลาดทุน สำหรับผู้ระดมทุน โดยเฉพาะภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ธุรกิจที่ใช้โมเดลเศรฐกิจชีวภาพ เศรฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG  ,อุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่มหรือ new s-curve เพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทย

2.การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย ผ่านการยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมสากล ยกระดับ Visibility ของตลาดทุนไทยในเวทีโลกและภูมิภาค รวมไปถึ งการออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินการลงทุนที่น่าสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ลงทุน

3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัล เช่น distributed ledger technology เพื่อปรับกระบวนการต่างๆสู่ธุรกิจอัตโนมัติ เพื่อให้ธุรกิจต่างๆสามารถดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิผลและโปร่งใสมากขึ้น

4.การพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน โดยตลาดทุนไทย จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริงสู่การนำเอาปัจจัยด้าน ESG มาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรากฐานการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง และ 5.การสนับสนุนสุขภาพทางการเงินที่ดีของประชาชน ในระยะยาว  โดยเฉพาะในวัยเกษียญและมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน

เขากล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดี อีกทั้ง ยังได้แสดงบทบาทหน้าที่ในการเป็นช่องทางในการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพและเป็นเสาหลักในการช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ในปี 2564 ขนาดของตลาดทุนคิดเป็น 1.2 เท่าของจีดีพี และตลาดตราสารหนี้รวมของภาครัฐและเอกชนคิดเป็น 0.9 เท่าของจีดีพี ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ยังมีความหลากหลาย

โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทุน จะเห็นได้ว่า การเติบโตตลาดทุนไทยภายใต้วิกฤตนี้ ผนวกกับความท้าทายหลายด้าน ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของตลาดทุนไทยถึงภาคการเงินและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในระยะหลังที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยยังสามารถดึงดูดเงินต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนสภาวะตลาดทุนไทยนั้น จากปี 2563-64 ตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายระลอก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาถึง 50% ในปี 2564 จากจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี เมื่อเดือนมี.ค. 2563 โดยระดับดัชนีดังกล่าวยังสูงกว่าดัชนีหุ้นในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 และสูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมได้ส่งผลต่อการปรับตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและการเงิน สำหรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอ มีบริษัทออกและเสนอขายแล้วกว่า 40 หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 4 ปี มีมูลค่าซื้อขายรวมกว่า 1.37 แสนล้านบาท สูงอันดับหนึ่งของอาเซียน

นอกจากไอพีโอแล้ว ยังมีบริษัทใช้ช่องทางการระดมทุนจากนวัตกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 1 ราย มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 2.4 พันล้านบาท และ ยังมีเอสเอ็มอีระดมทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์วงแคบจำนวน 11 บริษัท มูลค่าราว 90 ล้านบาทและผ่านคราวฟันด์ดิ้งจำนวน 140 บริษัท มูลค่ารวมเกือบ 1.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนไทย ยังได้รับการจัดอันดับในดาวโจนส์อินเด็กซ์เป็นตลาดเกิดใหม่โดยมีจำนวนเป็นอันดับ 2 อีกด้วย

ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน ตลาดหุ้นไทยยังคงมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ของอาเซียนมาเป็นปีที่ 10 โดยในปี 2564 มูลค่าอยู่ที่กว่า 8.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เทียบกับปี 2563 ซึ่งผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของตราสารหนี้ ภาคเอกชนมีการออกและเสนอขายตราสารหนี้ระยะยาวมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2563 และ ตราสารหนี้ระยะสั้นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่า บริษัทต่างๆยังสามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย

สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอฟเป่าตัง เพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 2564 มีมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังได้เสนอออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน สิ้นปี 2564 มีมูลค่าราว 1.7 แสนล้านบาท

ด้านเงินลงทุนตลาดตราสารหนี้ไทยพบว่า เงินลงทุนไหลเข้าสุทธิจากต่างชาติกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยสิ้นปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยเป็นประวัติการณ์ที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.8%ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย

อีกด้านคือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สิ้นปีที่ผ่านมานั้น มีมูลค่ารวมทั่วโลก 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพบว่า มีผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศไทยเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนบัญชี และยังเป็นกลุ่มหลักในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น อีกทั้งยังมีพัฒนาการและการเติบโตที่รวดเร็วทั้งด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายการกำกับดูแล

สำหรับประเทศไทยได้นำแนวทางกำกับจากประเทศต่างๆมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เพื่อให้กฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่างๆคลอบคลุมและดูแลนักลงทุน โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและหารือในการส่งเสริมและคำนึงในป้องกันคุ้มครองผู้ลงทุนและมีมาตรการประกอบธุรกิจที่มีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและเป็นไปตามระเบียบสากล