รัฐกางแผนลดผลกระทบ ‘สงครามยูเครน’ อัด 8 หมื่นล้านบาท อุ้ม 40 ล้านคน 3 เดือน

รัฐกางแผนลดผลกระทบ ‘สงครามยูเครน’  อัด 8 หมื่นล้านบาท อุ้ม 40 ล้านคน 3 เดือน

รัฐเตรียม 8 หมื่นล้านบาท อุ้ม 40 ล้านคน ลดผลกระทบจากสงครามยูเครน - รัสเซีย ลดค่าเอฟที 20 ล้านครัวเรือน ลดเงินสมทบประกันสังคม ช่วยจักรยานยนต์รับจ้าง ตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวี อุดหนุนเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย รัฐบาลได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รวม 9 มาตรการ ดูแลประชาชนได้ 40 ล้านคน ใช้วงเงินรวมกว่า 80,247 ล้านบาท โดยมาตรการที่เตรียมไว้ 9 มาตรการได้แก่

1.ลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ft) ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค.โดยมาตรการนี้ช่วยประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยได้ประมาณ 20 ล้านครัวเรือน

2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตน และนายจ้างในมาตรา 33 โดยลดอัตราสมทบจาก 5% เหลือ 1% สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค.โดยมีผู้ประกันตนได้ประโยชน์ 11.2 ล้านคน และนายจ้างได้ประโยชน์ 4.9 แสนราย

3.ลดอัตราจ่ายสมทบสำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน  

4.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน โดยลดจาก 9% เหลือ 1.9% สำหรับงวดค่าจ้างพ.ค.- ก.ค.  

5.ช่วยเหลือผู้ที่ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน

6.ช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน สำหรับเป็นส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน

7.ช่วยผู้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี จำนวน 3.18 แสนคน ให้ได้ใช้ก๊าซในราคาเดิมที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน

8.ช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจำนวน 1.57 แสนคน โดยให้การสนับสนุนส่วนลดค่าน้ำมันก๊าซโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

และ 9.ช่วยเหลือผู้ใช้รถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกันจำนวน 1.7 หมื่นคน ให้ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

นอกจากนั้นยังมีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรจนถึง 30 เม.ย.2565 และการทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 1 ครั้ง รวม 3 ครั้งภายใน 3 เดือน

โดยในส่วนนี้แหล่งที่มาของเงินที่จะใช้มาจาก 4 แหล่งได้แก่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) 39,520 ล้านบาท กองทุนประกันสังคม (เงินสมทบ) 35,224 ล้านบาท สำนักงบประมาณ จากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นวงเงิน 3,740 ล้านบาท และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์