ท่องเที่ยวฯ จ่อชง ศบค. “ยกเลิกไทยแลนด์พาส” เริ่ม 1 มิ.ย.65

ท่องเที่ยวฯ จ่อชง ศบค. “ยกเลิกไทยแลนด์พาส”  เริ่ม 1 มิ.ย.65

“พิพัฒน์” จ่อชง “ศบค.” ยกเลิกไทยแลนด์พาส เริ่ม 1 มิ.ย.65 กลับไปรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนภาวะปกติในปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ส่วนไทม์ไลน์ดีเดย์ 1 พ.ค.65 ยกเลิกตรวจ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางเข้าไทย เปลี่ยนเป็นตรวจ ATK โดยสถานพยาบาลแทน

หลังจากเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบการปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติม เกี่ยวกับเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากหลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้ตรวจเชื้อ 3 ครั้งรวมทั้งก่อนและหลังเดินทางถึงไทย ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ตรวจที่ประเทศต้นทางก่อนการเดินทางด้วยวิธี RT-PCR ส่วนครั้งที่ 2 ตรวจในประเทศไทยด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง และครั้งที่ 3 ตรวจด้วยวิธี ATK ในวันที่ 5

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ ปรับให้เหลือเฉพาะการตรวจที่ประเทศไทยเมื่อเดินทางมาถึงแล้ว โดยตรวจครั้งที่ 1 ด้วยวิธี RT-PCR และตรวจครั้งที่ 2 ด้วยวิธี ATK ในวันที่ 5

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เมื่อวันนี้ (24 มี.ค) ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในนัดหมายหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติม ยกเลิกการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง และเปลี่ยนมาใช้วิธีการตรวจด้วย ATK โดยสถานพยาบาลรับรองผลการตรวจ เมื่อผลตรวจเป็นลบ ถึงจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นไป

"อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือน เม.ย.นี้ จะต้องไม่มีการกระเพื่อมของยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่รุนแรง กล่าวคือยังรักษาระดับยอดผู้ติดเชื้อได้ไม่เกิน 50,000-60,000 คนต่อวัน (รวมผลตรวจ ATK เป็นบวก) และมียอดผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนต่อวัน"

ทั้งนี้จะเสนอให้มีการยกเลิกไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) หวังเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป กล่าวคือการเดินทางเข้าประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ไม่ต้องลงทะเบียนว่าจะเดินทางเป็นนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go, แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และกักตัว (Quarantine)

และตามหลักการควรจะไม่มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ในความเห็นส่วนตัว เพื่อความอุ่นใจของคนไทย ควรจะมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ในวันแรกที่เดินทางมาถึง แต่ข้อสรุปว่าควรมีการตรวจหาเชื้อในวันแรกหรือไม่ ต้องรอทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคาะอีกที

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯพยายามนำเสนอต่อรัฐบาลและ ศบค.ในการปลดล็อกมาตรการเดินทางเพื่อเปิดประเทศ เพราะตอนนี้ประเทศไทยเปรียบเสมือนกระต่ายที่วิ่งเร็วกว่าชาวบ้าน นำร่องเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 ด้วยโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตามด้วยนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go เริ่มเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 เราจะทำอย่างไรไม่ให้ชาวโลกสบประมาทว่า ไทยเป็นแค่กระต่าย แต่สุดท้ายก็โดนเต่าแซง

ทั้งนี้เป้าหมายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยคือการก้าวเป็นผู้นำท่องเที่ยวระดับโลก โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯประเมินว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน และมีการฟื้นตัวด้านรายได้การท่องเที่ยวของปีนี้อยู่ที่ 30% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ซึ่งปิดที่ 3 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 2566 คาดรายได้ฟื้นตัว 50% และในปี 2567 รายได้ฟื้นตัว 100%

ในช่วงการฟื้นตัว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอล โดยเฉพาะเทรนด์ใหม่ๆ ที่การระบาดของโควิด-19 เข้ามาดิสรัปพฤติกรรมการท่องเที่ยว เช่น เทรนด์ทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วย (Workation) รวมถึงปรับตัวด้านการใช้เทคโนโลยี โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะขอหารือกับนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดอบรมสัมมนาบุคลากรท่องเที่ยวเพื่อก้าวสู่ยุค 5.0 ต่อไป