กรุงศรี ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นตัว หนุนสินเชื่อ’เอสเอ็มอี’ ไตรมาสแรกปีนี้สดใส

กรุงศรี ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นตัว หนุนสินเชื่อ’เอสเอ็มอี’ ไตรมาสแรกปีนี้สดใส

“กรุงศรี” เกาะติดความเสี่ยง "รัสเซีย ยูเครน-  โควิด -น้ำมันพุ่ง" ท้าทาย "เอสเอ็มอี"  เตรียมวงเงินให้สินเชื่อฟื้นฟู หนุนเติบโต ตั้งเป้าปีนี้พอร์ตโต 2.5% แตะ 2.87 แสนล้าน  พร้อมคุมเอ็นพีแอล เท่าปีก่อนที่ 4.2% ชูเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY  เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายและยากสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอียังต้องปรับตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก  ทั้งสงครามรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย 

รวมถึงการระบาดโควิดกลายพันธุ์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง และแนวโน้มเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีหลากหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น  แต่เนื่องจากสถานการณ์ความเสี่ยงดังกล่าว ยังเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ขณะนี้ธนาคารได้เข้าไปติดตามลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดว่า มีความสามารถปรับตัวในระยะสั้นได้หรือไม่ หรือระยะยาวมีความจำเป็นต้องการความช่วยเหลือหรือไม่

โดยธนาคารยังมีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูพร้อมดูแลต่อเนื่อง ภายใต้กรอบวงเงินตามความจำเป็นอย่างเต็มที่ไม่จำกัด และการปรับวิธีการชำระเพื่อลดภาระได้ทันที  จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ มียอดปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 20,000 ล้านบาท 

นางสาวดวงกมล คาดว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูของธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้จะน้อยลงกว่าที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์ภาพรวมปีนี้ ถือว่าดีขึ้นกว่าช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าเอสเอ็มอี เข้ามาขอความช่วยเหลือปรับลดค่างวดมีจำนวนลดลไปมาก

 รวมถึงแนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีภาพรวมและของธนาคารในไตรมาสแรกปีนี้  คาดว่ายังมีสัญญาญเชิงบวกต่อเนื่องจากปลายปีก่อน  จากความต้องการสินเชื่อเพื่อการค้าการลงทุนที่ขยายธุรกิจจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้รับเชิงบวกจากภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางในประเทศและข้ามประเทศ และมองว่าการท่องเที่ยวไทยปีนี้น่าจะฟื้นตัวดี

พร้อมกันนี้ปี 2565 ธนาคารยังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ เอสเอ็มอี มุ่งสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแผนกลยุทธ์ 3R ได้แก่ Resilient, Respond และ Rebuild for the Future โดยเน้นพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม อีกทั้งเดินหน้าเชื่อมต่ออาเซียนสร้างโอกาสธุรกิจเพื่อลูกค้า พร้อมเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าเอสเอ็มอี ไว้วางใจ

ธนาคารตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็ม จะมียอดสินเชื่อคงค้างในปีนี้ ไม่น้อยกว่า 287,000 ล้านบาท เติบโต 2.5% จากปีก่อนที่ 280,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการเชิงรุกต่างๆ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด19 ปีที่ผ่านมา ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 37,000 ราย  ยอดสินเชื่อรวมกว่า 180,000 ล้านบาท  

ทางด้านแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPL) คาดว่า NPL ปีนี้จะอยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อนที่ 4.2% เพราะยังคงมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อยู่และสถานการณ์ปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีกว่าตลาดและต่ำกว่าคาดการณ์ NPL ปีก่อนมองไว้สูงถึง 5.5%

“ Digital & Innovation ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ มี 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ  คือ 1. Krungsri Digital Supply Chain Solution ช่วยสนับสนุนธุรกิจกลุ่ม Supply Chain และเสริมสภาพคล่อง 2. Krungsri Biz Online หรือ KBOL ดิจิทัลแบงก์กิ้ง จะพัฒนาฟีเจอร์และบริการใหม่ๆต่อเนื่อง 3. “Krungsri iPro” การเปิดบัญชีนิติบุคคลในยุคดิจิทัลช่วยอำนวยความสะดวก และ 4. “Krungsri Business Link” แพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจออนไลน์ช่วยลูกค้าขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ"