กรมโรงงาน เดินหน้ารีไซเคิลซากรถเก่า นำวัสดุกลับมาใช้ ลดนำเข้าเหล็ก

กรมโรงงาน เดินหน้ารีไซเคิลซากรถเก่า นำวัสดุกลับมาใช้ ลดนำเข้าเหล็ก

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลุยผลักดันธุรกิจรีไซเคิลซากรถทั่วประเทศ จับมือภาครัฐ-เอกชน ทำลายอย่างถูกวิธี และนำเหล็กกลับมาใช้ใหม่ในระบบลดนำเข้า

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโรงงานถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์ แบบครบวงจรอยู่เพียง 2 แห่ง คือ บริษัท ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดจังหวัดชลบุรี และบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินงานตั้งแต่การรวบรวมรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน การรื้อชิ้นส่วนยานพาหนะ ตลอดจนการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ กรอ. ต้องการจะผลักดันให้ธุรกิจดังกล่าวเกิดการขยายตัว เพื่อลดปริมาณการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ และเป็นการนำทรัพยากรจากการแยกซากรถมาหมุนเวียนให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็น ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม อาทิ ยาง พลาสติก โลหะมีค่าสกัดได้จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะที่เป็นเหล็ก 

 

ซึ่งในรถยนต์หนึ่งคันมีสัดส่วนเหล็กมากถึง 69% คิดเป็นมูลค่ากว่าสามหมื่นบาทต่อคัน ทั้งนี้ประเทศไทยมีกำลัง การบริโภคเหล็กอยู่ที่ 19 ล้านตันต่อปี โดยเป็นการนำเข้า 12 ล้านตัน และผลิตเอง 7 ล้านตัน 

นายวันชัย กล่าวต่อว่า จากสถิติจำนวนรถจำแนกตามอายุรถทั่วประเทศ กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 ประเทศไทยมีรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 5,033,307 คัน ซึ่งหากรีไซเคิลซากรถทั้ง 5 ล้านคัน จะได้เหล็กประมาณ 6.55 ล้านตัน และคาดว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าจำนวน รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน

ซึ่งรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และขาดการบำรุงรักษาตามมาตรฐานเป็นสาเหตุหลักอย่างหนี่งของปัญหาฝุ่น PM 2.5 การนำไปรีไซเคิลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการสาธิต สำหรับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานเพื่อการรีไซเคิลทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับซากยานพาหนะที่หมดอายุใช้งานในประเทศไทย (ELV Project: End-of-life Vehicles in Thailand) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมหรือ NEDO เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากซากรถยนต์ที่ใช้แล้วในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นต้นแบบการรีไซเคิลทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ในอนาคต 

จากความร่วมมือดังกล่าว ได้มีการสรุปทำเป็นคู่มือมาตรฐานการทำงาน (คู่มือการแยกชิ้นส่วน) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการถอดแยกซากรถยนต์ เพื่อเสนอแนวทางการจัดการ เพื่อสร้าง แรงจูงใจให้ผู้ที่มีรถยนต์เก่า นำรถยนต์มาทำลายอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งกระตุ้นให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดย การซื้อรถยนต์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่การเกิดระบบจัดการซากรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยต่อไป