สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผยยอดเงินฝากพุ่งสวนทางเศรษฐกิจชะลอ

สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผยยอดเงินฝากพุ่งสวนทางเศรษฐกิจชะลอ

สถาบันคุ้มครองเงินฝากประเมินยอดผู้ฝากเงินมีแนวโน้มพุ่ง แม้เศรษฐกิจจะเผชิญกับความท้าทาย เผยปี 64 ยอดผู้ฝากเพิ่ม 3.49 ล้านราย วงเงินเพิ่ม 6.65 แสนล้านบาท ยันวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมที่ 1 ล้านบาท แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ชี้มีผู้ฝากกว่า 98% ได้รับการคุ้มครอง

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(DPA)เปิดเผยว่า แม้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมในปี 2564 และ 2565 จะมีความท้าทายและกระทบต่อรายได้ของผู้ฝากเงิน แต่ยอดผู้ฝากเงินทั้งจำนวนรายและจำนวนเงินยังคงเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยการฝากเงินจะเป็นแหล่งออมเงินหลักของผู้ฝากเงิน รองลงมา จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์หลักอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์และทองคำ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2564 พบว่า มีผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้น 3.49 ล้านราย หรือ 4.19% จากปี 2563 โดยมีจำนวนผู้ฝากเงินอยู่ที่ 85.83 ล้านราย ส่วนจำนวนเงิน เพิ่มขึ้น 6.65 แสนล้านบาท หรือ 4.39% จากปี 2563 โดยยอดเงินฝากอยู่ที่ 15.59 ล้านล้านบาท

สำหรับการคุ้มครองเงินฝากนั้น แม้ว่า ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อจะมีทิศทางสูงขึ้น แต่ทางDPAเห็นว่า วงเงินการคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อหนึ่งสถาบันการเงินยังเป็นวงเงินที่เหมาะสม โดยปัจจุบันจำนวนรายของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่กว่า 98% ของผู้ฝากเงินในระบบ

อย่างไรก็ตาม ทางDPAได้มีการทบทวนวงเงินการคุ้มครองเงินฝากเป็นประจำทุกปี หลักการที่สำคัญ คือ เราจะคุ้มครองไม่น้อยกว่า 90% ของผู้ฝากเงิน ซึ่งปัจจุบันการคุ้มครองในวงเงิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ 98%กว่า ของผู้ฝากเงิน สอง ดูรายได้ของแต่ละคนเป็นอย่างไร และสาม ดูสัดส่วนของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองนั้น เงินที่ได้รับการคุ้มครองมีมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ถ้าเราดูจากข้อมูลในปี 2564 จำนวนผู้ฝากเงินอยู่ที่ 98% คนที่มีเงินต่อบัญชีน้อยลง เพราะว่า เศรษฐกิจโดยรวมมีความท้าทายมากขึ้น เงินที่ฝากในบัญชีก็น้อยลง ฉะนั้น วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท ก็ยังเป็นวงเงินที่เหมาะสมสำหรับการดูแลผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ และการคุ้มครองก็ไม่น้อยกว่า 90% ของผู้ฝากในระบบ

“วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท ยังเหมาะสม ทางDPA มีการทบทวนวงเงินเป็นประจำทุกปี ถ้าจำเป็นต้องปรับวงเงินขึ้นเพื่อคุ้มครองเงินฝากประชาชนส่วนใหญ่ เราก็จะดำเนินการ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันDPAมีเงินสะสมในกองทุนจากการนำส่งเงินเข้ากองทุน 0.01% ของเงินฝากในแต่ละสถาบันการเงินอยู่จำนวนกว่า 1.3 แสนล้านบาท เงินเหล่านี้จะถูกบริหารการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงและต้องมีสภาพคล่องที่สูงเพื่อสามารถดูแลผู้ฝากเงินได้ทันที เช่น พันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องยอมรับว่า ได้รับผลตอบแทนไม่สูง เพราะวัตถุประสงค์การลงทุนที่ต้องการความมั่นคง

เขายังกล่าวถึงการขยายความคุ้มครองเงินฝากไปยังผู้ฝากเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออีมันนี่ด้วยว่า ปัจจุบันกฎหมายของอีมันนี่กับกฎหมายของสถาบันการเงินเป็นคนละกฎหมายกัน ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากเราคุ้มครองตามกฎหมายสถาบันการเงินเท่านั้น

ทั้งนี้ กรณีอีมันนี่หากเกิดความเสี่ยงนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกกติกาไว้ว่า ผู้ฝากที่เติมเงินไปในกระเป๋าเงิน ทางบริษัทไม่สามารถนำเงินไปใช้ใดๆได้เลย ต้องเก็บไว้ 100% หมายความว่า ถ้าบริษัทมีลูกค้า 1 แสนราย รับฝากเงินรายละ 1 พันบาท เงินทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ โดยที่บริษัทไม่สามารถเอาไปใช้ได้

“แต่การคุ้มครองอีมันนี่นั้น กรณีบริษัทอีมันนี่นำเงินไปฝากไว้กับธนาคารที่มีปัญหา โอกาสที่เขาจะได้เงินคืนจะช้า และวงเงินในการคุ้มครองจะอยู่ที่ 1 ล้านบาท ฉะนั้น เรากำลังศึกษาคุ้มครองผู้ฝากเงินอีมันนี่ และเสนอคณะกรรมการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

เขายังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ทางDPA ได้วางโครงข่ายการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการต่างๆเข้าด้วยกันกับสถาบันการเงินและหน่วยงานการกำกับ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจในการคุ้มครองผู้ฝากเงินได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบปฏิบัติงานด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชี อีกทั้งมีการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารเป็น Omni Channel เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลให้สามารถตรวจสอบข้อมูล ตอบข้อซักถาม ช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

“เราได้จำลองสถานการณ์ทดสอบระบบ (Simulation) กระบวนการจ่ายคืน รูปแบบการสื่อสารกับผู้ฝาก รวมถึง การทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมการจ่ายคืนผู้ฝากอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนจะไม่สะดุดในวันที่ต้องเจอกับภาวะวิกฤต”

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนผู้ฝากทุกคนได้เตรียมความพร้อม โดยการอัพเดทข้อมูลของตัวผู้ฝากเอง ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยเฉพาะที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้ กับสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝาก และผูก PromptPay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากได้รับการคุ้มครองสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น