สรรพสามิตคาด9ค่ายรถเตรียมลงนามร่วมมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวี

สรรพสามิตคาด9ค่ายรถเตรียมลงนามร่วมมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวี

สรรพสามิตคาดอีก​ 9​ ค่ายรถเตรียมลงนาม​ร่วมมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวีเร็วๆนี้​ หลัง​ 2 ค่ายรถ"เกรทวอลล์-เอ็มจี"ลงนามแล้ว​ ระบุ​ ผู้บริโภคอาจได้รับส่วนลดสูงถึง​ 4 แสนบาทต่อคันขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์และค่ายรถที่นำเข้า​

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)​ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการจะได้สิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิตและ เงินอุดหนุนจำนวน 70,000 หรือ 150,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ ส่งผลให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดลง และประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในวันนี้ (21 มี.ค.)กรมสรรพสามิตได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว ระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่พร้อมเข้าร่วมมาตรการ จำนวน 2 ราย ได้แก่​ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

เมื่อได้ลงนามในข้อตกลงแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั้ง 2 ราย จะได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนจากการจำหน่าย รถยนต์ BEV โดยในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ ORA GOOD CAT 500 ultra , ORA GOOD CAT 400 Tech และ ORA GOOD CAT 400 Pro และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย จำนวน 3 รุ่น ได้แก่  MG ZS EV, MG EP และ MG EP PLUS ซึ่งราคาที่แสดงในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จะเป็นราคาขายปลีกแนะนำที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว และคาดว่าจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์รายอื่นๆ เข้าร่วมลงนามข้อตกลงในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

"มั่นใจว่าเงื่อนไขในการสนับสนุนรถอีวีจะเป็นที่พอใจของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งล่าสุด ทางค่าย เนต้า จากประเทศจีน ได้ยื่นขอเข้าร่วมมาตรการแล้ว คาดว่า​ จะมีการลงนามความร่วมมือในเร็วๆนี้ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีค่ายรถ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่นและยุโรป เข้าร่วมมาตรการอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ กรมฯมีความพร้อมอยู่แล้ว ดังนั้นทางค่ายรถยนต์สามารถเข้ามาลงนามความตกลงได้เลย ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 วัน ในการพิจารณาโครงสร้างราคา และหลังจากนั้นก็สามารถจำหน่ายรถยนต์ในราคาที่ได้รับส่วนลด เริ่มต้นตั้งแต่ 1.5 - 2 แสนบาทต่อคัน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเงินส่วนลดที่รัฐบาลให้จะถึงมือผู้บริโภคโดยตรง จากราคาขายรถยนต์ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของมาตรการส่งเสริมอีวี รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3,000 ล้านบาท หากเม็ดเงินไม่เพียงพอ เชื่อว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเพื่มวงเงินให้ แต่คาดว่าปีนี้ก็ใช้อยู่ในกรอบ 3,000 ล้านบาท ขณะที่งบที่จะสนับสนุนในปีถัดไป รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ พิจารณาแล้ว

ส่วนเงื่อนไขที่กำหนดผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปีที่ 3 คืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 `หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษ ตามเงื่อนไข ในเอ็มโอยู ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาไว้ เช่น เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต

ด้านนายณัฐกร​ อุเทนสุต ที่ปรึกษากรมสรรพสามิตกล่าวว่า​ รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณการเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีในปีนี้จำนวน 3 พันล้านบาท​ โดยจะนำมาจากงบกลาง และ​ ในอีก​ 3 ปีข้างหน้าอีก​ 4 หมื่นล้านบาท​ ซึ่งคณะกรรมการยานต์ไฟฟ้าได้มีมติให้กระทรวงการคลังหารือกับสภาพัฒน์เป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ส่วนนี้้​ เชื่อว่า​ เม็ดเงินส่วนนี้จะเพียงพอกับปริมาณการเติบโตของรถอีวี

สำหรับส่วนลดที่ประชาชนจะได้นั้น​ เขากล่าวว่า​ ประชาชนจะได้รับส่วนลดถึง​ 3 ต่อ​ โดยต่อแรก​ คือ​ ส่วนลดจากอากรขาเข้าที่จะมีส่วนลดสูงสุดถึง​ 40% แล้วแต่กรณี​ อาทิ​ รถจากค่ายญี่ปุ่นได้รับส่วนอากรขาเข้า 20% ค่ายรถเกาหลี​ และยุโรป​ 40% ส่วนค่ายจีนจะไม่ได้เลย

ส่วนที่สอง​ คือ​ ส่วนลดจากภาษีสรรพสามิตที่จะเหลือ​ 2% จาก​ 6% ส่วนที่สาม​ คือ​ เงินอุดหนุนจากภาครัฐ​ตั้งแต่​ 7​ หมื่นบาท​ ถึง​ 1.5​ แสนบาท​ ขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์​ โดยถ้าต่ำกว่า​ 30​ กิโลวัตต์​ ส่วนลดจะอยู่ที่​ 7​ หมื่นบาท​ ถ้ากำลังวัตต์มากกว่า​ 50​ ส่วนลดจะอยู่ที่​ 1.5​ แสนบาท

"เบ็ดเสร็จ​ ถ้าเป็นรถยุโรปราคามากกว่า​ 2 ล้าน​บาท​ หรือประมาณ​ 2.2​ล้านบาท​ จะได้รับส่วนลดถึง​ 4 แสนบาท​ ถ้าเป็นค่ายรถญี่ปุ่นราคาส่วนลดอาจได้ไม่ต่ำกว่า​ 3 แสนบาท​ ถ้าราคารถอยู่ที่​ 1 ล้านบาท​ ราคาที่ลดแล้วอาจจะอยู่ที่​ 7​ แสนบาท​ เป็นต้น"

นายณัฐกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในงานมอเตอร์โชว์ 2022 นี้ ค่ายเกรท วอล มอเตอร์ มีรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมจำหน่าย 1,500 คัน ส่วนเอ็มจี อีก 500 คัน รวมเป็น 2,000 คัน นอกจากนี้ ยังมีค่ายรถอื่นๆที่แสดงความสนใจเข้าร่วมมาตรการอีก 8-9 ค่าย เช่น ค่ายจากยุโรป เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู และค่ายจากญี่ปุ่น โตโยต้า ฮอนด้า มิซูบิชิ นิสสัน รวมถึงจากจีน ฟ็อกซ์คอนน์ เนต้า ที่ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัดมหาชน เป็นต้น