พาณิชย์ ไฟเขียว ขึ้นราคาปุ๋ย หลังต้นทุนพุ่งกระฉุด

พาณิชย์ ไฟเขียว ขึ้นราคาปุ๋ย  หลังต้นทุนพุ่งกระฉุด

กรมการค้าภายใน ไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ยเคมี แต่ให้เฉพาะรายเนื่องจากต้นทุนไม่เท่ากัน หลังต้นทุนพุ่งกระฉูดเกือบ 50% จากปี 64 หรือเกือบ 100% จากปี 63 ยันถ้าไม่ให้ขึ้นบ้าง หวั่นของขาด กระทบเกษตรกร ส่วนอาหารสัตว์ เร่งหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปลดสัดส่วน 1 ต่อ 3

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต และจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอว่า หากจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมี กรมยืนยันว่า จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละรายมีต้นทุนแตกต่างกัน ไม่ใช่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด หรือให้ปรับขึ้นได้ทุกราย 

ทั้งนี้ แม้พบว่า  ขณะนี้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 36-49% เมื่อเทียบกับปี 64 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 63 จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้แหล่งผลิตปุ๋ยเคมีใหญ่ทั้ง 2 แหล่งได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% หรือปีละกว่า 5 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ ตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย แคนาดา ฯลฯ 

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้ผู้ค้าปุ๋ย เร่งนำเข้าปุ๋ยเข้ามาให้ทันกับฤดูการเพาะปลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนนี้ แม้ยังมีอุปสรรคการนำเข้าบ้าง โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนเรือ และตู้ขนส่งสินค้า รวมถึงค่าระวางเรือที่สูงขึ้น และแหล่งนำเข้าสำคัญได้รับผลกระทบจากสงคราม อย่างไรก็ตาม ได้พิจารณาถึงมาตรการที่จะลดต้นทุนให้กับผู้ค้า รวมถึงเกษตรกรด้วย โดยเฉพาะเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิต และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพทดแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้บางส่วน 

 “เรื่องการขึ้นราคาปุ๋ย หรือสินค้าอื่นๆ ที่ขณะนี้ต้นทุนสูงขึ้นมากจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ผู้ค้าเข้าใจสถานการณ์ดี เพราะการขึ้นราคาสูงเกินไป ทำให้ความต้องการซื้อลดลงทันที และกระทบกับตัวเอง ดังนั้น การขึ้นราคา กรมจะพิจารณาให้รอบด้าน และพิจารณาถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า เกษตรกรผู้ใช้ และผู้บริโภคปลายทาง แต่ถ้าไม่ขึ้นราคา ผู้ผลิต ผู้ค้าก็อาจไม่นำเข้า และไม่ผลิต ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยขาดแคลน และกระทบต่อเกษตรกรได้อีก รวมถึงสินค้าอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจบลงเร็ว สถานการณ์ราคาน่าจะดีขึ้น

ส่วนกรณีที่ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ลดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ที่กำหนด 1 ต่อ 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกร จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมากในขณะนี้นั้น ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) พิจารณาเห็นชอบ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน เช่น จะลดสัดส่วนลงเหลือเท่าไร ระยะเวลาในการปรับลดสัดส่วนจะถึงเมื่อไร เป็นต้น เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด หรือมันสำปะหลังในประเทศ เพราะการกำหนดสัดส่วนดังกล่าว เพื่อไม่ให้โรงงานอาหารสัตว์การนำเข้าข้าวสาลีมากจนเกินไปและกระทบต่อราคาข้าวโพดในประเทศ 

“จะต้องเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะสถานการณ์ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมถึงกรณีที่ข้าวโพดหลังนาของไทยที่กำลังจะออกในเร็วๆ นี้อีกราว 700,000-800,000 ตันด้วย ที่จะเข้ามาช่วยเติมวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีมากขึ้น และไม่เกิดภาวะขาดแคลน”นายวัฒนศักดิ์ กล่าว