"ไทยแอร์เอเชีย" ลุ้นทำกำไรปี 66 เพิ่มบินต่างประเทศสร้างกระแสเงินสด

"ไทยแอร์เอเชีย" ลุ้นทำกำไรปี 66 เพิ่มบินต่างประเทศสร้างกระแสเงินสด

“ไทยแอร์เอเชีย” ใส่เกียร์บินต่างประเทศ ลุ้นฟื้นกำไรปี 66 เล็งเป้าครึ่งปีหลังหวังโกยผู้โดยสารเส้นทาง “ญี่ปุ่น-ฮ่องกง-มาเก๊า-จีนตอนใต้” หลังไตรมาส 2 รีเทิร์นบินเพิ่มเป็น 18 เส้นทางสู่ 7 ประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้ หนุนเป้าผู้โดยสารปีนี้แตะ 12.3 ล้านคน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียมีลุ้นกลับมาทำกำไรอีกครั้งในปี 2566 หลังประเมินแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 และน่าจะกลับมาทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ 100% ในปีหน้า

ส่วนภาพรวมธุรกิจของไทยแอร์เอเชียในปี 2565 ถือเป็นช่วงแห่งการฟื้นฟู มองว่ายังไม่มีกำไร แต่พยายามลดการขาดทุนให้ได้มากที่สุด และยังคงรักษาเป้าหมายยอดผู้โดยสารไปให้ถึง 12.3 ล้านคนในปีนี้ แบ่งเป็นผู้โดยสารจากเส้นทางบินระหว่างประเทศ 30% และเส้นทางบินในประเทศ 70% มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 78% แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้ภาพรวมการเดินทางในช่วงไตรมาส 1 สะดุด

“การกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ถือเป็นกุญแจหลักของไทยแอร์เอเชียในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบินที่มีอยู่มากขึ้น หนุนเพิ่มรายได้ ทำให้มีกระแสเงินสดมาหมุนเวียนการใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยในไตรมาส 2 นี้ได้ใส่เกียร์ห้ารุกบินเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 18 เส้นทาง สู่ 7 ประเทศทั่วอาเซียนและเอเชียใต้”

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศ นอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย และนโยบายเปิดประเทศทั้งฝั่งไทยและประเทศเป้าหมายที่ผ่อนคลายมากขึ้นแล้ว ไทยแอร์เอเชียยังมีความพร้อมเรื่องฝูงบินและจำนวนพนักงานให้บริการ คาดว่าในไตรมาส 2 นี้น่าจะมีความต้องการใช้เครื่องบินเพิ่มเป็น 30 ลำ จากปัจจุบันใช้งานประมาณ 20 ลำ และคาดว่าในไตรมาส 4 นี้จะมีการใช้งานเครื่องบินเพิ่มเป็น 50 ลำ หลังปีนี้จะมีการคืนเครื่องบินตามสัญญาเช่าจำนวน 7 ลำ ทำให้มีฝูงบินลดลงจาก 60 ลำเมื่อสิ้นปี 2564 เหลือ 53 ลำ ณ สิ้นปีนี้

โดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเป็น 10.5 ชั่วโมงต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มจากอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 6 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนจำนวนพนักงานของไทยแอร์เอเชีย หลังมีการปรับลดให้สอดคล้องกับจำนวนเครื่องบิน จากก่อนโควิด-19 เคยมีกว่า 5,000 คน ปัจจุบันมีพนักงานราว 4,500 คน เป็นพนักงานเข้างานแบบฟูลไทม์ 60% ส่วนอีก 40% เป็นแบบเฟอร์โลก์ (Furlough) หรือให้พนักงานแอคทีฟสอดคล้องกับจำนวนเครื่องบินที่ใช้งานจริง ทั้งนี้ตั้งเป้าจะดึงพนักงานเข้างานแบบฟูลไทม์ครบ 100% ให้ได้ภายในไตรมาส 4 นี้

\"ไทยแอร์เอเชีย\" ลุ้นทำกำไรปี 66 เพิ่มบินต่างประเทศสร้างกระแสเงินสด

และแม้จะเกิดกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและผันผวน แต่ประเมินแล้วราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวและเข้าสู่ขาลง หลังเห็นแนวโน้มการเจรจาที่ดีระหว่างสองประเทศ ส่งผลดีต่อธุรกิจสายการบิน

“เราคาดว่าตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศของไทยแอร์เอเชียจะทยอยฟื้นตัวกลับมา 20% ในไตรมาส 2 นี้ ก่อนจะเพิ่มเป็น 40% ในไตรมาส 3 และเพิ่มเป็น 60% ในไตรมาส 4 โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ไทยแอร์เอเชียเล็งเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศไป สปป.ลาว เมียนมา ญี่ปุ่น (ฟุกุโอกะ และโอกินาวะ) รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และเมืองทางตอนใต้ของจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าทางการจีนจะทยอยเปิดบางเมืองก่อน หากโอกาสมาเมื่อไร เราพร้อมฉวยโอกาสเปิดทำการบินทันที จากความพร้อมของฝูงบินและพนักงานที่มีอยู่”

ขณะที่ตลาดเส้นทางบินในประเทศ ไทยแอร์เอเชียตั้งเป้ากลับมาบินด้วยปริมาณที่นั่ง (Capacity) เต็ม 100% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ภายในไตรมาส 2 นี้ จากปัจจุบันเปิดทำการบินครบทุกเส้นทางบินในประเทศแล้ว เหลือเพียงความถี่เที่ยวบินที่ยังต้องกระตุ้นต่อเนื่องเพื่อไปถึงจุดที่เคยทำการบินในภาวะปกติ

\"ไทยแอร์เอเชีย\" ลุ้นทำกำไรปี 66 เพิ่มบินต่างประเทศสร้างกระแสเงินสด