“ปตท.”ผนึก อว.ลุยศูนย์ทดสอบ “ยานยนต์อัจฉริยะ" วังจันทร์วัลเลย์

 “ปตท.”ผนึก อว.ลุยศูนย์ทดสอบ “ยานยนต์อัจฉริยะ" วังจันทร์วัลเลย์

"ยานยนต์อัจฉริยะ" เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย การที่ไม่ต้องขับรถเอง ไม่หลงทางหรือวนหาที่จอด หนึ่งในระบบการพัฒนาเทคโนโลยีคือกระบบการทดสอบก่อนใช้งานจริง ความร่วมมือระหว่าง "รัฐ-เอกชน" จะเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะคว้าจินตนาการสู่ชีวิตจริง 

สุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT  เปิดเผยว่า ปตท.ได้ลงนามสัญญาเช่าที่ดินบนพื้นที่ขนาด 26 ไร่ ภายในโซนนวัตกรรมของ EECi วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับดำเนินการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future mobility) ผ่านการจัดทำสนามทดสอบสมรรถนะการขับขี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle:CAV) เช่น การทดสอบการรับส่งข้อมูลสำหรับการขับขี่ผ่านระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบWIFI, 4G LTE, 5G

การทดสอบตามข้อกำหนดADAS EURO NCAPการทดสอบการขับขี่แบบอัตโนมัติแบบเชื่อมโยงกับรถคันอื่น / แบบเป็นกลุ่มก้อน (Platooning) ตลอดจนห้องปฏิบัติการค้นคว้าวิจัยร่วมกับพันธมิตร เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

 “ปตท.”ผนึก อว.ลุยศูนย์ทดสอบ “ยานยนต์อัจฉริยะ\" วังจันทร์วัลเลย์  "เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการร่วมกันสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมของยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท."

สำหรับ "วังจันทร์วัลเลย์” ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 3,500 ไร่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นเมืองวิจัยนวัตกรรมของประเทศ ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform โดยมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ (Smart Innovation EcoSystem) แบ่ง3 โซนหลัก คือ 1. Education เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์

2. Innovation สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เพื่อการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ BIOPOLIS, ARIPOLIS, SPACE INNOPOLIS และ FOOD INNOPOLIS และ 3. Community สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการเพื่อนักวิจัยและครอบครัว รวมถึงชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบและประชาชนทั่วไป

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า  เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์หลายสาขาทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบเชื่อมต่อโทรคมนาคม เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมากในการพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย

“ในการเช่าพื้นที่ทำสนามทดสอบดังกล่าวจะเป็นการทำสัญญาระยะยาวเกิน 10 ปีแน่นอน โดดคาดว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 แบ่งการลงทุนเป็น 3 เฟส ใน 3 ปี โดยปีแรกจะใช้งบประมาณเบื้องต้น 100 ล้านบาท และหากการก่อสร้างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็จะสามารถเปิดใช้พื้นที่ให้ทดสอบได้ในต้นปี 2566”

นอกจากนี้ วศ. มีแผนการให้บริการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการกำหนดนโยบายและส่วนการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นการออกแบบวิธีทดสอบสมรรถนะการขับขี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ

ดังนั้น โครงการสร้างสนามทดสอบ CAV Proving ground ใน EECi วังจันทร์วัลเลย์ จะเป็นส่วนหนึ่งของ Roadmap ใหญ่ของประเทศ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ โดยเน้นการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยานยนต์ที่จะผลิตในประเทศไทยที่เป็นลักษณะอัตโนมัติยังต้องใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้ต่างประเทศได้มีการผลิตและมีการใช้งานบ้างแล้ว เมื่อจะนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยก็สามารถใช้สนามทดสอบที่วศ. สร้างขึ้น หรือจะติดต่อในลักษณะส่งมาให้ทีมงานทดสอบให้ก็ได้ ถือเป็นการสร้าง Business Model อีกช่องทางที่ วศ.ได้คิดค้นมารองรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศเกี่ยวกับยานยนต์อัตโนมัติ

การพัฒนายานยนต์แบบไร้คนขับถือเป็นเทคโนโลยีอีกขั้น และจะปล่อยให้ยานยนต์อัตโนมัติวิ่งถนนคงเป็นไปไม่ได้ จะต้องแก้กฎหมายและกฎระเบียบอีกมากมาย ประเทศไทยต้องเตรียมตัว เราในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงต้องเตรียมพร้อมในด้านนี้”

ทั้งนี้ วศ.จะใช้พื้นที่บางส่วนในโซนนวัตกรรมของ EECi วังจันทร์วัลเลย์ มีหลายโครงการอยู่ในนั้น ในส่วนพื้นที่ปตท.เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งกระทรวงอว.มีหลายหน่วยงานไปใช้พื้นที่อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และที่กำลังจะใช้พื้นที่เพิ่มเติม อีกหลายโครงการเพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล