สถาบันเอไอฯกับการพัฒนา Deep Techรับอุตฯดิจิทัล

สถาบันเอไอฯกับการพัฒนา  Deep Techรับอุตฯดิจิทัล

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า เอไอ ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหูในทุกวงการ จนคนเริ่มคุ้นชินและรับรู้ว่า เอไอ คืออะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง

แต่ความคุ้นเคยนั้นยังคงอยู่ในกลุ่มของผู้ใช้งานจริงที่รู้ว่า บริการต่าง ๆ นำ เอไอ มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล

แต่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เรามองไกลกว่านั้น โดยเรามองไปถึงการพัฒนาเอไอ เพื่อการบริการที่จะทำให้ทุกคนไม่ใช่แค่ “รู้”แต่สามารถ “ใช้งาน” ได้ตรงตามความต้องการและธุรกิจ

“ประเทศไทยยังขาดเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ของเราเองที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน” ซึ่ง depa มุ่งทำงานเพื่อทลายกำแพงนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า แท้ที่จริงแล้ว Deep Tech จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างไร ประการแรกคือ เราจะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ การที่คนไทยพัฒนา เอไอ สัญชาติไทยจะทำให้ระบบมีความเข้าใจบริบทแบบไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี และอีกสิ่งสำคัญคือ เราสามารถพัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อเข้าสู่ตลาดเทคโนโลยีระดับโลกได้

จุดเริ่มต้นแรกในปี 2562 คือการที่ depa ร่วมมือกับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จัดตั้ง สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (VISTEC-depa Thailand Artificial Intelligence Research Institute) หรือ สถาบันเอไอประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อประโยชน์ของสังคมด้วยงานวิจัยและความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแรกเริ่ม สถาบันเอไอประเทศไทย ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร depa ลาดพร้าว ก่อนขยายสู่แห่งที่สองในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง เมื่อปลายปี 2563

ที่ผ่านมา สถาบันเอไอประเทศไทย พัฒนาโมเดลและชุดข้อมูลรองรับการนำไปปรับใช้หลากหลายชุด พร้อมให้คำปรึกษาและพัฒนางานวิจัยมากกว่า 60 โครงการ ควบคู่กับการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ทั้งด้าน Data Science และ Data Engineering มากกว่า 200 คน รองรับปริมาณความต้องการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

ความร่วมมือกับเพื่อนอย่าง VISTEC ถือเป็นแนวทางการทำงานของ depa ที่ยึดถือมาโดยตลอดคือ “เราไม่ทำงานคนเดียว” ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เข้มแข็งคือ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการบริการได้สำเร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภายใต้ สถาบันเอไอประเทศไทย ได้เปิดตัวการให้บริการดิจิทัลโซลูชันด้านการเชื่อมโยงเอไอ (AI-enabled) ขึ้นในชื่อ VISAI ให้บริการแพลตฟอร์มเชื่อมโยงที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถนำไปเชื่อมต่อกับระบบของตนเองในลักษณะ (Based Model) และพัฒนาความฉลาดของเอไอให้เฉพาะทางยิ่งขึ้น อีกทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการพัฒนาเอไอขั้นสูง (Advance AI Models and Solutions)

ต่อจากนี้รูปแบบการใช้งานเอไอจะไม่ใช่แค่องค์กรหรือกลุ่มธุรกิจที่มีกำลังในการพัฒนาเอไอ เพื่อยกระดับการบริการแก่ลูกค้าหรือพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่เอไอจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ การมีเอไอฉลาดเฉพาะทางในเรื่องที่ผู้ใช้งานตั้งเป้าไว้ แม้จะเป็นระดับย่อยในครัวเรือนที่มีไว้เป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน หรือจะล้ำไปไกลถึงการเป็นเอไอสำหรับสั่งการระบบสำคัญของประเทศที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ ก็อาจเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้ เพราะเมื่อทุกคนเข้าถึง เข้าใจ และประยุกต์ใช้เป็นแล้ว บริการดิจิทัลใหม่ ๆ จากเอไอก็จะเกิดขึ้นมากมาย และนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านเอไอในอนาคต