สหรัฐ จีน อียู รุกคุมสิ่งแวดล้อม พาณิชย์ แนะบีซีจีทางรอดผู้ส่งออก

สหรัฐ จีน อียู รุกคุมสิ่งแวดล้อม พาณิชย์ แนะบีซีจีทางรอดผู้ส่งออก

พาณิชย์ เผย เวทีการค้าระหว่างประเทศใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมนำเข้าสินค้า เพื่อสู่เป้าหมาย Climate Change เฉพาะอียูใช้มาตรการ CBAM บังคับการผลิตสินค้าต้องมีข้อมูลปล่อยก๊าซเรือนกระจาก แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ใช้โมเดลBCG มาประยุกต์

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวในการสัมมนา  FAST TRACK to the NET ZERO ที่น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ จัดขึ้น ในหัวข้อเวทีการค้าระหว่างประเทศกับประเด็น Climate Changeว่า ขณะนี้ทุกเวทีการค้าระหว่างประเทศแตะประเด็นClimate Change หรือพูดง่ายๆถนนทุกสายมุ่งไปสู่การมีส่วนร่วมในการดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์หรือClimate Change โดยองค์การการค้าโลก (WTO )มีข้อยกเว้นให้สมาชิกจำกัดการน่าเข้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล  มีคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม (CTE)

ขณะที่เวทีเอเปกให้จัดทำบัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ในสินค้า 54 รายการ
และอยู่ระหว่างจัดท่าแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดกิจกรรมในประเด็นเกี่ยวกับการค้าและสิ่งแวดล้อม

ด้านเวทีการเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ พบว่า ในการเจรจา เอฟทีเอ ยุคใหม่มักมีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อม Climate Change และข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนเน้นการปฏิบัติตาม UNFCCC Kyoto Protocol และ Paris Agreement อย่างจริงจัง  นอกจากนี้ในเวทีของอาเซียน ใน AEC Blueprint 2025 ได้กำหนดให้เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นกลยุทธ์การเติบโตของอาเซียน รับรองกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับ AEC (Framework for Circular Economy for the AEC) ฝ่ายเลขาธิการอาเซียนกำลังศึกษากลยุทธ์ในการท่าให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เสนอให้การ upgrade FTA มีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อม 

ส่วนสหประชาชาติ เองก็ได้ทำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มีหลักการที่ระบุถึงผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ไม่ควรเลือกปฏิบัติหรือกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม มีพิธีสารเกียวโต กำหนดเป้าหมายก๊าซเรือนกระจก กำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในสองระยะเวลา คือ ปี2008 - 2012 ลดก๊าซฯ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 1990รับรองโดย 192 ประเทศ (สหรัฐฯ ไม่ให้การรับรอง แคนาดาถอนตัวและปี2013 – 2020 ลดก๊าซฯ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 18% เมื่อเทียบกับปี 1990รับรองโดย 147 ประเทศ

ความตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายร่วมกันของโลก คือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศา และมุ่งพยายามควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ขณะที่ที่ประชุมCOP 26 ก็กำหนดกติกาเกี่ยวกับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศเช่นกัน

นางอรมน กล่าวว่า ด้านประเทศไทย ก็มีนโยบาย Climate Change กำหนดเป้าหมายสู่NET  ZERO ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 ที่จัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ.2564-2573แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ในส่วนของต่างประเทศก็มีนโยบายด้านนี้เช่นกัน เช่น สหรัฐ มีเป้าหมายลดก๊าซ 50-52% ภายในปี 2030 NET  ZERO ภายในปี 2050  สหภาพยุโรป ลดก๊าซ55 %ภายในปี 2030  NET  ZERO ภายในปี2050 เป็นต้น

สำหรับการค้าระหว่างประเทศนั้น ซึ่งทุกประเทศได้แจ้งให้กับดับบลิวทีโอมี มี 827 มาตรการ ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่ใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน โดยเฉพาะสหภาพยุโรปหรืออียูได้ประกาศมาตรการCBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่เกี่ยวกับการสินค้า  จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2566และจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569  โดยในช่วง 3 ปีแรก ถือเป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ครอบคลุมสินค้า ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และในอนาคตก็อาจจะขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมอีก

โดยสินค้าของไทยที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ CBAMโดยในปี2564 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการ CBAMไปยังอียู 186.61 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.52%ของการส่งออกสู่โลก อย่างไรก็ตามหลายประเทศมองว่ามาตรการดังกล่าวขัดกับหลักการและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศภายในดับบลิวทีโอ และมีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจมากว่าสิ่งแวดล้อม แต่ทางอียูยืนยันว่าเป็นมาตรการสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า

นางอรมน กล่าวว่า เมื่อประเด็นสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกมาเป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศ  ทางรอดของสินค้าส่งออกไทยคือ   ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตให้มีการปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อพยายามมุ่งสู่ Net Zeroโดยอาจนำแนวคิดเรื่อง BCG modelมาประยุกต์ใช้ เตรียมความพร้อมเรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและของผลิตภัณฑ์และการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้จะต้องใช้ climate changeเป็นจุดขาย เพื่อช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  โดยอาจพิจารณาการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (eco-labeling) และการใช้กลไกราคาคาร์บอนภายในองค์กร รวมทั้งการแสวงหาโอกาสใหม่ๆที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น สินค้าและบริการสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน พิจารณาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ภาครัฐของไทยมีให้ และอาจขอรับการสนับสนุนทางเทคนิคและ การเงินจากต่างประเทศติดตามพัฒนาการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย และศึกษารายละเอียดของมาตรการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจ

รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัย และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) กล่าวว่า ทุกคนพุ่งเป้าไปยังปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ขณะนี้ส่งผลเกิดภาวะโลกรวนเกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น โดยในรอบ 100 ปี อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆจนถึงร้อนมากจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อคน โดยในปี 2562 มีภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลกถึง 820 ครั้ง เฉลี่ยวันละมากกว่า 2 ครั้ง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดภัยธรรมชาติถี่ขึ้นรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า คลื่นความร้อน หรือคลื่นความหนาว    ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 2.7-3 องศา ไม่มีใครรอดแน่  เพราะอุณหภูมิร่างกายมนุษย์อยู่ที่36.-37.2 องศา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศา เพราะโลกที่ร้อนขึ้นเพียง 2 องศา ก็ทำให้ทั้งพืชและสัตว์ตายเกือบหมด 

“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนกลับมามองและเริ่มคิดวิธีการลดภาวะโลกร้อน เพื่อให้เราอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมในอนาคต ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่กระทบเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อม แต่กระทบไปยังสังคม เศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตามปัญหาแต่ละเรื่องอาจมีแนวทาง เทคโนโลยี หรือสูตรแก้แตกต่างกันออกไป  จึงต้องพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยบางโซลูชั่นอาจแก้ได้มากกว่า 1 ปัญหา ซึ่งแนวคิดการออกแบบโครงการหรือพัฒนาเมืองเชิงสิ่งแวดล้อม(Eco Design) เป็นมิติหนึ่งของการรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ดังนั้น ปัญหาภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤต แต่ในวิกฤตนั้นก็มีโอกาสแฝงอยู่ด้วย