ถอดรหัสธุรกิจ“ไทยยูเนี่ยน” บริหารจัดการยามวิกฤติ

ถอดรหัสธุรกิจ“ไทยยูเนี่ยน”    บริหารจัดการยามวิกฤติ

สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ยังอยู่บนขอบความเสี่ยง แต่ที่หยุดไม่อยู่แล้วก็คือราคาน้ำมันที่ดันให้เงินเฟ้อของไทยและอีกหลายประเทศพุ่งสูงขึ้น เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจโลกซึ่งคอร์ปอเรทที่ทำการค้าระหว่างประเทศจะมาถอดรหัสการบริหารจัดการธุรกิจในยามวิกฤติให้ทราบ

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าวิกฤติระหว่างยูเครน กับรัสเซียในขณะนี้ ยังไม่มีผลต่อภาพรวมของไทยยูเนี่ยน แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนในรัสเซีย แต่ก็น้อยทำรายได้เพียงปีละประมาณ 300 ล้านบาทเท่านั้น  ในขณะที่การลงทุนดังกล่าวเป็นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในรัสเซียเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งการใช้ชีวิตของประชาชนในรัสเซียในขณะนี้ยังเป็นปกติ ทำให้สินค้ายังมีการซื้อขายแต่จะกระทบบ้างกรณีการขนส่งและการโอนเงิน

ถอดรหัสธุรกิจ“ไทยยูเนี่ยน”    บริหารจัดการยามวิกฤติ

อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นสามารถรับรู้ได้ว่า สหภาพยุโรป(อียู)สั่งซื้อสินค้าไทยยูเนี่ยนจากไทยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ยังเป็นทูน่ากระป๋อง เนื่องจากเป็นอาหารที่เก็บได้นานและราคาไม่สูงมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังเป็นเรื่องการขนส่งการขาดแคลนตู้

คอนเทนเนอร์ เท่านั้น

สำหรับอัตราเฟ้อ ราคาน้ำมัน นั้นพบว่าปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลกเหมือนกันหมด และเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤติยูเครนซึ่งไทยยูเนี่ยนก็มีการบริหารจัดการอยู่แล้ว โดยสินค้าของไทยยูเนี่ยนจึงต้องปรับราคาตามเงินเฟ้อ อยู่ที่ 7 % แต่ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ 

 

นอกจากการปรับราคาแล้วก็ให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการลดต้นทุน นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้มากที่สุด ลดการสูญเสีย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสภาวะที่เกิดขึ้น บริษัทจึงสามารถบริหารจัดการได้

“ของที่ราคาแพงขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะขายไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ และความต้องการ อย่างสินค้าโปรตีนเป็นสารอาหารที่ดีสามารถขายได้ทั้งยามปกติและสงคราม อีกทั้งที่ผ่านมาราคาที่ขายก็ไม่ได้สูงมาก อย่างกุ้งความต้องการตลาดยังมีอยู่แต่สินค้าไม่พอจำหน่าย ดังนั้นจึงมีวิธีการอีกมากมายที่จะส่งออกและขายได้”

ในปัจจุบันไทยยูเนี่ยนจึงสามารถดำเนินตามกลยุทธ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายการเติบโตปีละ 5 % กำไร 18-18.5 % และวางงบลงทุนไว้ปีละ 6,000 ล้านบาท ในสายธุรกิจอาหาร และธุรกิจต่อเนื่องที่น่าสนใจ

“ผมคิดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และทั่วโลก เป็นเหมือนกันหมด จึงไม่มีผลมากนักในด้านการแข่งขัน ในขณะที่ธุรกิจอาหารจะขายได้ดีขึ้น เพราะความกังวลของผู้บริโภค แต่ไม่ถึงกับกักตุน ส่วนโควิด -19 เกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว ก็สามารถปรับตัวรับกับปัญหาได้ “

ด้านการนำน้ำมันกัญชง กัญชามาใช้ในผลิตภัณฑ์ นั้นไทยยูเนี่ยนเข้าซื้อ บมจ. อาร์แอนด์บีฟู้ด ซัพพลาย (RBF) 10 % และร่วมกับจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้และมีความพร้อมจะดำเนินการได้ทันทีที่มีกฎหมายรองรับ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นจะต้องเป็นที่ต้องการของตลาดด้วย ซึ่งในธุรกิจอาหารสามารถนำส่วนของกัญชงและกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบได้ทั้งหมด

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะนี้คือการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งยูเครน –รัสเซีย, จีน-สหรัฐ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน และคาดเดายาก แต่เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ มีสถานะค่อนข้างดี ทำให้มีความน่าสนใจ สามารถยืดหยุ่นได้ทุกสถานการณ์ ความเสี่ยงในด้านต่างๆจึงลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหารที่ยังเป็นที่เชื่อมั่นของผู้นำเข้าทั่วโลก