ราคาทองพุ่ง! ชวนเปิดคลังแบงก์ชาติ มี "ทองคำ" มากขนาดไหน

ราคาทองพุ่ง! ชวนเปิดคลังแบงก์ชาติ มี "ทองคำ" มากขนาดไหน

เมื่อราคา "ทองคำ" ได้พุ่งขึ้นทุบสถิติมูลค่าสูงสุดตลอดกาล แบงก์ชาติไทยจึงถูกจับตามองว่าจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ หลังจากคว้าตำแหน่งผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ของโลกในปี 2564 ที่ผ่านมา

ปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” กลายเป็นนักลงทุนสถาบันผู้ซื้อทองคำมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก พร้อมทั้งทำสถิติสำรองทองคำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยปริมาณราว 244 ตัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกวิเคราะห์จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ว่าเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเตรียมพร้อมต่อการไหลออกของเงินทุนที่อาจจะเกิดขึ้น จากทิศทางนโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐ เป็นต้น ซึ่งนั่นคือสถานการณ์ในช่วงปี 2564

อย่างไรก็ตาม ย่างเข้าปี 2565 สถานการณ์กลับทำท่าเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ หลังจากสมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน” ปะทุความรุนแรง และดันราคาน้ำมันถีบตัวขึ้นสูงราว 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซ้ำเติมระดับเงินเฟ้อทั่วโลกให้เข้าใกล้ระดับวิกฤติมากไปกว่าเดิม

สถานการณ์ข้างต้นส่งผลให้ “ราคาทองคำ” สินทรัพย์ที่นับว่าสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ดีที่สุด ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และวันพุธที่ผ่านมา (9 มี.ค.) ราคาทองคำในประเทศไทยได้พุ่งทะลุบาทละ 31,000 บาทไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ได้มีคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวไว้ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา (ก.พ. 65) 

จากข้างต้น ธปท. ที่ถือเป็นนักลงทุนสถาบันจึงถูกคาดว่าจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก จากการสำรองทองคำไว้ในระดับสูง

ดังนั้น “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปสำรวจทองคำสำรองในมือของธปท. ว่า ในวันที่ราคาทองพุ่งขึ้นสูงเช่นนี้ มีมูลค่ามากขนาดไหน

  ย้อนดูความเคลื่อนไหวการสำรองทองคำของธปท.ในปี 2564 ที่ผ่านมา  

ณ สิ้นปี 2563 ไทยมีทองคำสำรองที่ราว 154 ตัน มูลค่ารวม 9,344 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 3.62% ของเงินสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด โดยครองอันดับที่ 26 ของโลก และอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)  

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ขยับตัวในตลาดทองคำครั้งยิ่งใหญ่ กลายเป็นนักลงทุนสถาบันผู้ซื้อทองคำสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสามารถแจงเป็นไทม์ไลน์ได้ดังนี้

- ไตรมาส 1/2564

ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ทองสำรองของไทยนั้นยังมีปริมาณคงตัวจนสิ้นสุดไตรมาส โดยผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ในไตรมาสนี้ คือ ญี่ปุ่น ที่สำรองทองเพิ่มขึ้น 80.76 ตัน 

- ไตรมาส 2/2564

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของไทย โดยธปท.ได้ทำการสำรองทองคำเพิ่มขึ้นภายในไตรมาสเดียวถึง 90.2 ตัน ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้ส่งผลให้ไทยมีทองคำสำรองทั้งหมดราว 244 ตัน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่อัตรา 58.44% 

- ไตรมาส 3/2564 และ ไตรมาส 4/2564

สำหรับไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 แม้ ธปท.ไม่ได้มีการขยับตัวเพิ่มหรือลดปริมาณที่ถือครอง ถึงอย่างนั้น ปริมาณทองคำที่ซื้อเพิ่มขึ้นก่อนหน้า ก็นับเป็นปริมาณการซื้อสูงสุดของโลกในปีที่ผ่านมา โดยอันดับถัดมาตกเป็นของ ญี่ปุ่น, อินเดีย, ฮังการี และบราซิล ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลให้ไทยเลื่อนจากอันดับที่ 26 ขึ้นเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ณ สิ้นปี 2564 

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่เคยเป็นผู้สำรองทองมากที่สุดในอาเซียนมาอย่างนานราว 20 ปี อย่าง ฟิลิปปินส์ กลับกลายเป็นผู้ขายทองคำทองคำสำรองมากที่สุดในโลกที่ประมาณ 30 ตันในปีที่ผ่านมา ส่งให้ไทยคว้าตำแหน่งผู้มีทองคำสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ย้อนกลับมาที่สถิติของประเทศไทยเรา การซื้อทองคำสำรองที่เพิ่มขึ้นของธปท.นี้ ทำให้ ณ สิ้นปี 2564 สัดส่วนของทองคำในเงินสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่อัตรา 5.76% จากอัตรา 3.62% ณ สิ้นปี 2563 คิดเป็นมูลค่าราว 14,176 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.76 แสนล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33.38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการทุบสถิติมูลค่าสูงสุดตลอดกาล 

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าทองคำสำรองมีนัยต่อสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นของประเทศไทย โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงที่ไทยประสบกับวิกฤติการเงินในปี 2540 ไทยมีมูลค่าทองคำสำรองเพิ่มขึ้นราว 1897% หรือเฉลี่ย 126% ต่อปี และในห้วงเวลาเดียวกัน มีมูลค่าเงินสำรองฯ เพิ่มขึ้นถึง 3015% หรือเพิ่มเฉลี่ยปีละ 201% 

 

  ราคาทองพุ่ง มูลค่าทองคำสำรองของไทยเพิ่มขึ้นด้วยไหม  

สำหรับประเทศไทยที่มีปริมาณทองคำเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจของสถานการณ์ราคาทองในปีนี้อีกประการคือ ไทยจะได้รับอานิสงส์ตามราคาทองด้วยหรือไม่ 

เมื่อพิจารณาที่ ณ สิ้นปี 2564 ทองคำสำรองตามมูลค่าสกุลเงินบาทรวมทั้งหมดแล้วอยู่ที่ 4.76 แสนล้านบาท โดยมีปริมาณรวมเท่ากับ 244.16 ตัน เท่ากับว่า ราคาทองถัวเฉลี่ยในตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 1,948 ล้านบาทต่อตัน 

ในขณะที่วันอังคารที่ผ่านมา (8 มี.ค.) ราคาทองคำในตลาดโลกได้พุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 2,200 ล้านบาทต่อตัน หากสมมติให้ปริมาณทองคำสำรองของไทยยังคงเท่าเดิมจะพบว่า ทองคำสำรองของไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 61,528 ล้านบาท หรือรวมมูลค่าแล้วกว่า 5.37 แสนล้านบาท  

อย่างไรก็ตาม ปริมาณทองคำสำรองที่นำมาคำนวณนี้ อ้างอิงจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งอาจไม่ใช่ปริมาณที่แท้จริงที่ธปท.ถืออยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเงินสำรองฯ นั้นสามารถปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้แทบทุกเวลา ตราบเท่าที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้น

นอกจากนี้ แม้ว่าเงินสำรองฯ สุทธิอาจจะมีมูลค่าเท่าเดิม แต่ก็อาจมีการปรับสัดส่วนของการถือครองสินทรัพย์ในแต่ละชนิด ทำให้มูลค่าทองคำในเงินสำรองฯ สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เป็นไปตามดุลยพินิจการบริหารเงินสำรองฯ ของธปท. 

ฉะนั้น เราอาจไม่สามารถสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วไทยได้ประโยชน์จากการสถานการณ์ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นเช่นนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าเงินสำรองฯ ที่สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ก็ช่วยเป็นหลักประกันได้ว่า ไทยยังมีศักยภาพพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินจากภาวะการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นนี้ได้

---------------------------------------

อ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

GoldPrice

World Gold Council