“เอสซีจี” ปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติ หวั่นน้ำมันซ้ำเผลกระทบโควิด

“เอสซีจี” ปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติ หวั่นน้ำมันซ้ำเผลกระทบโควิด

“เอสซีจี” เผยวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ ชี้เป็นความท้าทายใหม่ภาคธุรกิจ ซ้ำผลกระทบโควิดที่ยังไม่ฟื้นดี ห่วงธุรกิจเคมีคอลส์ ที่มีต้นทุนวัตถุดิบน้ำมัน 70-80% ขณะที่วัสดุก่อสร้างแบกต้นทุนพลังงาน 20% ยืนยันชะลอขึ้นราคาสินค้า 

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการทั้งต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับแผนเพื่อรองรับช่วงวิกฤติพลังงาน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังไม่ทันคลี่คลายภาคธุรกิจก็ต้องรับความท้าทายใหม่เรื่องราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวและอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศที่นำเข้าพลังงานมากจะยิ่งได้รับผลกระทบมากกว่า

สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำผลกำไรเป็นกว่า 60% ของเอสซีจี ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมากที่สุดเนื่องจากใช้น้ำมันแนฟตา ซึ่งราคาเชื่องโยงกับตลาดโลกเป็นวัตถุดิบหลัก คิดเป็นต้นทุนสัดส่วนถึง 75-80% ส่วนผลกระทบรองลงมา คือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีต้นทุนด้านพลังงานสัดส่วน 20% ในขณะที่ธุรกิจแพ็คเกจจิง มีต้นทุนพลังงานสัดส่วน 5% จึงได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเอสซีจีอยู่ที่เงื่อนไขของเวลา ซึ่งแต่ละสมมติฐานมีผลลัพธ์ที่ต่างกันมาก จึงยังเป็นความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เอสซีจีเชื่อมั่นว่าผลกระทบในวิกฤติครั้งนี้จะไม่รุนแรงเท่าตอนเกิดโควิดในช่วงแรกที่มีความไม่แน่นอนสูงและเป็นเรื่องใหม่ พอเจอวิกฤติอีกครั้งจึงมีบทเรียนที่สอนให้รับมือได้” นายรุ่งโรจน์กล่าว

แผนรับมือผลกระทบ 2 ระยะ

สำหรับแนวทางการปรับตัวของเอสซีจี ได้กำหนดแผนดำเนินงาน 2 ระยะ คือ

1.แผนระยะสั้น มองเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนพลังงานและตลอดห่วงโซ่การผลิต พยายามปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งดูแลด้านต้นทุนการเงิน การบริหารจัดการหนี้และดอกเบี้ย และกระแสเงินสดให้เพียงพอรวมทั้งทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวได้เร็ว ทั้งด้านการผลิตและราคาตามสภาวะตลาด

สำหรับธุรกิจเคมีคอลส์ที่ได้รับผลกระทบกับต้นทุนวัตถุดิบโดยตรงเตรียมปรับให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นโดยการปรับราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด รวมทั้งปรับกำลังการผลิตตามความต้องการในตลาดโดยไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนซัพพลาย อย่างไรก็ตามจะพยายามชะลอการปรับขึ้นราคาและให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจในห่วงโซ่ตลอดทั้งซัพพลายเชน

2.แผนระยะยาว มองว่าสถานการณ์วิกฤติจะเริ่มคลี่คลาย โดยจะมุ่งเดินหน้าตามเป้าหมายเดิม ด้วยการเร่งทรานส์ฟอร์มทุกธุรกิจรับ 3 เมกะเทรนด์ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ 

เดินหน้าลงทุน 8 หมื่นล้าน

สำหรับการลงทุนที่ตั้งไว้ 80,000 ล้านบาท ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผน แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม 40% ของงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อสร้างคืบหน้าตามแผน 91% โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566 รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาการขยายโครงการ LSP2 เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขยายโรงงานอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สำหรับแผนการที่ เอสซีจี เคมิคอลส์ โดยบริษัท เซอร์คูลาร์ พลาส ได้ร่วมกับ TOYO Engineering ผู้นำด้านวิศวกรรมระดับสากล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิต ภายใต้เทคโนโลยี Advanced Recycling เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต จะเริ่มสเกลการผลิตได้ในครึ่งหลังของปี 2565

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วที่อาจไม่ได้คัดแยกอย่างถูกต้องให้กลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่เรียกว่า Recycled Feedstock สามารถนำกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบ และยังช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเผาขยะสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050

ลุยแผนลงทุนธุรกิจกรีน

รวมทั้งยังคงลงทุนต่อเนื่องในเทคโนโลยี Green Construction Solution พลิกโฉมวงการก่อสร้างสู่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัย อาทิ ผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice ที่ลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงานและส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี CPAC Green Solution เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความรวดเร็ว ลดปัญหาฝุ่น ของเสียในงานก่อสร้าง

และอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท คลีนเนอร์ยี่ บีจีพี จำกัด ในประเทศไทยซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ SCG Cleanergy ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ร่วมกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซอวิส จำกัด หรือBGPS ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 49% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มลุกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง

“เทรนด์ด้านพลังงานทดแทนเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก ซึ่งยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก โดยเอสซีจีจะเปิดรับพาร์ทเนอร์ด้านพลังงานเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีในระหว่างการเกิด energy transition โดยมีบีกริมเป็นจุดเริ่มต้น”

ทั้งนี้ จะพิจารณาการลงทุนภายใต้กรอบความเสี่ยง โดยยังมีเป้าหมายที่จะมุ่งสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอาเซียนส่วนโครงการใหม่ที่อาจส่งผลกับการเงินระยะยาวให้พิจารณาพักไว้ก่อน ด้านแผนการซื้อกิจการให้มีการทบทวนเนื่องจากมีข้อดีที่เกิดรายได้ทันที และลดต้นทุนการก่อสร้าง