รุ่น2อารียา‘พัทธมล เลาหพูนรังษี’ลุยภารกิจรีเฟรซแบรนด์จับ Gen Y

รุ่น2อารียา‘พัทธมล เลาหพูนรังษี’ลุยภารกิจรีเฟรซแบรนด์จับ Gen Y

เป็นที่รู้กันว่าการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย! จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ “พัทธมล เลาหพูนรังษี” ทายาทรุ่นที่ 2 ของ “อารียา พรอพเพอร์ตี้” กับภารกิจรีเฟรซแบรนด์ตอบโจทย์ Gen Y กลุ่มลูกค้าที่เป็นกำลังซื้อหลักแห่งอนาคต

พัทธมล เลาหพูนรังษี  ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ “อารียา พรอพเพอร์ตี้” มุ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีการแตกย่อยกลุ่มลูกค้าแบบ Market Fragmentation  วางดีไซน์บ้านให้สอดคล้องกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าที่พิถีพิถันในการเลือกที่อยู่อาศัยให้ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตมากขึ้น ตอบโจทย์เป้าหมายการเป็น “Lifestyle Property Developer”

ทั้งนี้ จากแนวคิดเรื่องประชากรศาสตร์และพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไป โดยเจนเนอเรชั่นที่ครองตลาด Premium-Mass วันนี้มีสัดส่วน Gen Y มากที่สุด และไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปมีความหลากหลายมากขึ้น โปรดักส์ที่มีอยู่ในตลาดอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเพียงพอ

ดังนั้น กลยุทธ์การตลาดของอารียา จะให้ความสำคัญกับ “ดีไซน์” และ “ฟังก์ชัน” ที่นอกจากจะต้องสวย แตกต่าง และโดดเด่นแล้ว ยังต้องมีพื้นที่ใช้สอย ฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยมากที่สุด ด้วยการ Customization

“เรามุ่งสร้างแบรนด์ให้มีเสน่ห์ที่แตกต่างอย่างโดดเด่น ทำให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำ และกระจายโปรดักส์ไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพมากขึ้น ปี 2565 จะเห็นอารียาพัฒนาโปรเจคแนวราบอีกหลายแห่ง พร้อมสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์หรือโปรดักส์นั้นๆ ตามไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญเน้นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าและเหมาะสมกับแต่ละโครงการ”

โดยช่วง 2 ปีที่ผ่าน อารียา รุกตลาดแนวราบเจาะ “GEN Y” มากขึ้น ด้วยการพัฒนา 2 โครงการนำร่องที่มีดีไซน์ที่แตกต่างไปจากเดิมเริ่มจาก “โคโม่ เบียงกา” โซนบางนาระดับราคา 5 ล้านบาทเป็นโครงการบ้านสีขาวโครงการแรกที่พัฒนาออกมาเพื่อให้มีความโฮมมี่! พบว่ามีการตอบรับที่ดีช่วงพรีเซลสร้างยอดขาย 250 ล้านบาท และขายหมดภายใน 18 เดือน ถือเป็นโครงการแรกในรอบ10 ปี!! ที่ปิดโครงการเร็วมาก

ต่อมา “โคโม่ โบทานิก้า” ระดับราคา 5.49 ล้านบาท กระแสตอบรับดีมากเช่นกัน สะท้อนจากยอดลูกค้าเยี่ยมชมโครงการแล้วตัดสินใจซื้อ 3:1 จากค่าเฉลี่ยในตลาดอยู่ที่ 6:1 และปิดโครงการได้เร็วกว่า 18 เดือน ทั้งที่อยู่ในช่วงโควิด-19 

กระแสตอบรับที่ดีจาก 2 โครงการเกินคาดหมาย! สร้างแรงบันดาลใจและย้ำว่ากลยุทธ์นี้มาถูกทาง! 

จากเดิมลูกค้าอารียาจะเป็นผู้ใหญ่ สไตล์ ทรอปิคอล คอนเทมโพรารี่ แต่เมื่อขยับมาเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงต้องสร้างความต่าง และเป็นที่มาของ “เอเรน” โครงการล่าสุดที่ใช้ดีไซน์สุดโต่งแบบโมเดิร์นมินิมอล สีขาวไปให้สุด!  ที่จะมาช่วยสร้างภาพลักษณ์ หรือ Image driven แบรนด์อารียาในเชิง Corporate Brand มีความทันสมัยขึ้นอย่างเห็นได้ชัดต่อการมุ่งจับคนรุ่นใหม่อายุ 27-35 ปี ให้รู้จักแบรนด์และจดจำแบรนด์ได้มากขึ้น

"เอเรน ได้รับการพูดถึงตามสื่อต่างๆ จนเป็นไวรัลที่คนรุ่นใหม่พูดถึงใน Twitter มี KOL แชร์และรีวิวให้เอง เป็นออร์แกนิค จาก Earned  ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าพูดถึงสินค้า หรือบอกต่อเกี่ยวกับแบรนด์"

พัทธมล ขยายความต่อว่า ส่วนหนึ่งได้ Insight จากทีมงานคนรุ่นใหม่ มีการทำการบ้านเจาะลึกไลฟ์สไตล์ ซึ่งคนรุ่นใหม่อยู่บ้านไม่ใช่แค่นอน ตื่นมารับประทานอาหาร แล้วออกนอกบ้าน แต่ยุคโควิดนี้ “อยู่บ้าน” มากขึ้น จะมีจุดขายอย่างไรที่ทำให้คนอยากอยู่บ้าน หรืออยู่แล้วไม่อึดอัดเวลาที่ต้องทำงานที่บ้าน จึงลงตัวที่ “คอร์ทยาร์ด” ใส่เข้าไปกลางบ้านทาวน์โฮมอยู่มุมไหนของห้องก็รู้สึกโปร่ง เป็นจุดที่แตกต่างจากสินค้าในท้องตลาด และไม่มีใครทำมาก่อน

“เอเรน มีกิมมิกและฟังก์ชั่น ตอบโจทย์เจนวายในทุกส่วน ตั้งแต่โปรดักท์ การทำแคมเปญ ที่สื่อสารภาพแบรนด์ออกไปได้ชัดเจน มี Unique point ทำให้สำเร็จทั้งแคมเปญ โปรดักท์และยอดขาย ในระดับราคา4.39 พื้นที่ใช้สอย 143 ตร.ม. ตอบโจทยกลุ่ม DINK (Double income no kids) ซึ่งอาจมีทั้งแต่งงาน หรือไม่แต่งงาน สามารถเรียกว่าครอบครัวได้ถึงแม้จะไม่มีลูก แต่เลี้ยงแมวหรือสุนัขแทน เหล่านี้คือตัวอย่างของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น”

พร้อมกันนี้ อารียา ยังได้สร้างแบรนด์ผ่าน 5 Senses Experience เน้นการ Collaboration กับพันธมิตร มีการทำ CRM program และพัฒนา CRM tools เพื่อให้ลูกบ้านรักในแบรนด์และมีความสุขที่ตัดสินใจมาเป็นลูกบ้านอารียา ไม่ว่าจะเป็นพริวิเลจ การดูแลหลังการขาย สิ่งแวดล้อม ซึ่ง อารียา มุ่งสู่ “หมู่บ้านปลอดขยะ”  โดยสร้าง Zero waste system เช่น มีถังแยกขยะ แอพ recycle time เปลี่ยนขยะให้เป็นเงินได้ และ Food Waste Converter เปลี่ยนเศษอาหารเป็นดินหรืออาหารต้นไม้