"ปรับตัว" ให้ทัน "มหาวิกฤติ" ยังไม่จบ

"ปรับตัว" ให้ทัน "มหาวิกฤติ" ยังไม่จบ

วันนี้ภาพรวมการลงทุน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมาก การทำธุรกิจ การดำเนินชีวิตท่ามกลางมหาวิบัติที่ถาโถมมากมายขนาดนี้ ต้องปรับตัวให้ทัน รอดให้ได้ในทุกสถานการณ์ ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกระแส

สงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางผลกระทบมากมายในวงกว้าง โดยเฉพาะราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แน่นอนว่าทั่วโลกไม่อยากให้สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน พยายามหาโซลูชันเจรจา ลดการเผชิญหน้า ยิ่งสงครามลากยาวบานปลายมากเท่าไหร่ ยิ่ง “บั่นทอน” ความมั่นใจของระบบการลงทุนโลกให้จมดิ่ง หาแสงสว่างไม่เจอ

ประเทศไทย” ห้วงเวลานี้โดนผลกระทบอย่างหนัก ด้วยราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา ราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่เพิ่มขึ้นทุกวัน สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง กระทบกันเป็นลูกโซ่ ลุกลามไปถึงต้นทุนการผลิต การขนส่ง ราคาสินค้าหลายรายขยับขึ้นพรวดพราด

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อลามถึงสิ้นปี อาจทำเศรษฐกิจไทยเสียหาย 244,750 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.5% ทั้งปี จีดีพีจะขยายตัว 2.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 4.5-5.5%

ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ปั่นป่วนระบบเศรษฐกิจอย่างหนัก ค่าเงินบาทที่ผันผวน จากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศต่าง ๆ เกิดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ การส่งออกไปยังประเทศอื่นโดยเฉพาะยุโรปชะลอลง เงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบ ที่มีโอกาสแตะไปถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต้นทุนทำธุรกิจเพิ่ม ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นผู้ขายเพิ่มราคาขาย การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนชะลอลง

ผลกระทบที่ขยายวงกว้างมากขนาดนี้ ทำให้หลายสำนักฯ ทำนายเศรษฐกิจไปในทางเดียวกันว่า หากสงครามยืดเยื้อยาวนาน อาจเกิดความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะ stagflation ในทางเทคนิคได้จากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อสูง

ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ จะทำให้เศรษฐกิจของไทยย่อตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ความสามารถของรัฐบาลที่จะตรึงราคาไว้ได้อาจอยู่ถึงแค่เดือนมิถุนายน ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ ตั้งรับในกรณีเลวร้ายที่สุด แม้หลังจากนี้ทั้ง 2 ประเทศ อาจหันหน้ามาเจรจาร่วมกัน แต่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงไปแล้ว และมีแนวโน้มลดลงยากอยู่ดี การที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ภายใน 6 เดือนนี้ จะเป็นการบรรเทาผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง แต่รัฐบาลควรต้องเตรียมแผนด้านอื่นเพิ่มเติมไว้ด้วย 

วันนี้ภาพรวมการลงทุน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมาก การทำธุรกิจ การดำเนินชีวิตท่ามกลางมหาวิบัติที่ถาโถมมากมายขนาดนี้ ต้องปรับตัวให้ทัน รอดให้ได้ในทุกสถานการณ์ ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกระแส

หนึ่งในคาถารับมือของ “บิ๊กคอร์ป” ชั้นนำ คือ การบริหารจัดการเรื่องต้นทุน องค์กร การปรับปรุงระบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ควบคุมและลดทอนเรื่องอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องทำในช่วงนี้ลง นำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปลงในเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นในอนาคต เพื่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะเมื่อถึงเวลาที่โลกเดินหน้าได้ แต่ “เรา” ยังคลำหาทางเดินไม่เจอ อาจทำให้ธุรกิจตกอยู่ในอันตราย และในไม่ช้าอาจต้องปิดตัวลง