กพช.เคาะปลดล็อกเพดานฯกองทุนน้ำมัน รับวิกฤติ หวั่นน้ำมันทะลุ 150 ดอลลาร์!

กพช.เคาะปลดล็อกเพดานฯกองทุนน้ำมัน รับวิกฤติ หวั่นน้ำมันทะลุ 150 ดอลลาร์!

กพช.เคาะปลดล็อกเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมันฯชงเข้า ครม.สัปาดาห์หน้า รับมือวิกฤติพลังงาน น้ำมันพุ่ง พร้อมทำแผนรองรับวิกฤติที่แผนราคาน้ำมันสูงสุด 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล "สุพัฒนพงษ์" เตรียมแถลงแผนรับมือวิกฤติน้ำมันศุกร์นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน วันนี้ (9 มี.ค.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้มีการยกเลิกการกำหนดเพดานการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนเป็นไม่กำหนดเพดานการกู้เงินเพื่อรับมือกับวิกฤติราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ โดยการดำเนินการจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) แก้ไข พรฎ.ฉบับเดิมและมีผลโดยเร็วที่สุดหลัง ครม.ให้ความเห็นชอบ 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการยกเลิกการกำหนดเพดานการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯแล้วการกู้เงินจะพยายามไม่ให้เกิน 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากหากกู้เงินมากเกินไปก็จะกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันฯ และจะกระทบกับหนี้สาธารณะได้ 

ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯได้มีการขอกู้เงินไปแล้ว  2 หมื่นล้านบาท และจะทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินในส่วนแรกภายในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนการกู้เงินเพิ่มเติมจะดำเนินการตามสถานการณ์และความจำเป็น 

นายกุลิศ กล่าวต่อ ว่าสำหรับมาตรการในการรับมือกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนรองรับวิกฤติใหม่จากเดิมที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นแผนรองรับสถานการณ์ร้ายแรงที่สุดกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเกินกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีแผนและมาตรการในการรองรับตั้งแต่ราคาน้ำมันเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิน 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเกินกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตามลำดับของสถานการณ์ 

ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะแถลงร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงพลังงาน 

 

นายกุลิศ กล่าวด่วยว่าสำหรับมาตรการดูแลค่าไฟฟ้าประชาชน กพช. เห็นชอบ ให้มีการปรับสูตรการคำนวนค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมเอาราคาพลังงานโดยรวมเอาราคาพลังงานหลายชนิดเข้ามาคำนวณเพื่อให้เพื่อให้การคิดค่าไฟในครั้งต่อไปไม่ปรับเพิ่มขึ้นจนกระทบกับประชาชนมากเกินไป

โดยที่ประชุม กพช.เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง

รวมทั้งเห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง [T-2] ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี

เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยที่ประชุมได้ให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน

รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม จากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่น ๆ นอกจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุด ไม่เกิน Avoided cost และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า โดยให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บริหารให้เป็นไปตามนโยบายต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

และเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาและได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า