วิกฤติ "รัสเซีย-ยูเครน" ผลกระทบมากกว่าน้ำมัน

วิกฤติ "รัสเซีย-ยูเครน" ผลกระทบมากกว่าน้ำมัน

สงคราม "รัสเซียยูเครน" นอกจากจะสร้างวิกฤติด้าน "ราคาน้ำมัน" ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก โดยพบว่ามีนักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนตกค้างในไทย 30,000 คน และรัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือด้านการชำระเงิน

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เข้าสู่ภาวะสงคราม ได้สร้างผลกระทบต่อโลกขยายวงกว้างมากขึ้น โดยผลกระทบหลักที่กระทบกับทุกประเทศ คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่บาร์เรลละ 127.61 ดอลลาร์ ในขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดับเบิลยูทีไอของสหรัฐ อยู่ที่บาร์เรลละ 123.04 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย 

 

สถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลต้องหารือกันอย่างตึงเครียด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 และนายกรัฐมนตรีกำหนดให้แต่ละกระทรวงกำหนดแผนการรับมือผลกระทบมาเสนอในการประชุม ครม.ครั้งถัดไป ซึ่งมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งวางแผนรับมือกับผลกระทบในแต่ละด้าน และปฏิเสธไม่ได้ว่า กระทรวงพลังงาน ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะราคาน้ำมันดิบสูงเกินกว่าที่รัฐบาลได้ประมาณการไว้ที่ 120 ดอลลาร์ ไปแล้ว 

ผลกระทบในการค้าระหว่างประเทศเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสายเดินเรือต้องมีการปรับเส้นทางเดินเรือในบางเส้นทาง รวมถึงมีการปรับเพิ่มค่าระวางเรือ ซึ่งที่ผ่านมาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เจรจากับประเทศจีน เพื่อวางแผนรองรับสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางของประเทศจีน ไปยังเอเชียกลางที่ติดกับประเทศรัสเซีย รวมถึงการขนส่งไปยุโรปตะวันออก จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณา 

 

ในขณะที่ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวมีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยผ่านระบบเทสต์แอนด์โก ในเดือน ก.พ.2565 เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซียมากที่สุด คือเกือบ 20,000 คน

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงาน ครม. ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนตกค้างในประเทศไทยมากถึง 30,000 คน และจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน หลังจากประเทศรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางการเงิน

ส่วนราคาสินค้าหลายรายการได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมถึงวัตถุดิบการผลิตที่สูงขึ้น เช่น เหล็กสำหรับผลิตกระป๋อง รวมถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตรเมื่อราคาปุ๋ยสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าปุ๋ยจากประเทศรัสเซียที่มีราคาถูกกว่าแหล่งผลิตอื่น

เมื่อภาพผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนรับมือให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบมากไปกว่านี้