ศึก "รัสเซีย-ยูเครน" ยืดเยื้อทุบเที่ยวไทย แอร์ไลน์กระอักจ่อขยับค่าตั๋ว

ศึก "รัสเซีย-ยูเครน" ยืดเยื้อทุบเที่ยวไทย  แอร์ไลน์กระอักจ่อขยับค่าตั๋ว

วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ทุบภาคท่องเที่ยวไทย ปัจจัยลบรุมซ้ำเติมโควิด สายการบินแห่งชาติรัสเซีย “Aeroflot” ระงับเที่ยวบินเส้นทางต่างประเทศ “ทุกเส้นทาง” รวมไทย มีผล 8 มี.ค.นี้ สะเทือนยอดทัวริสต์รัสเซียร่วง ธุรกิจแอร์ไลน์ชี้ลามหนักต้นทุนน้ำมัน ปรับราคาตั๋วบินแพงขึ้น

วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ทุบภาคท่องเที่ยวไทยซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 หลังนานาประเทศทั่วโลก นำโดยสหรัฐและประเทศพันธมิตรในยุโรป ออกมาตรการคว่ำบาตรประเทศรัสเซียหลายรูปแบบ โดยเฉพาะมาตรการตัดรัสเซียออกจากระบบธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) ขณะที่ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่ารุนแรง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรัสเซีย

นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มยุโรปยังระงับเที่ยวบินทางอากาศกับรัสเซียอีกด้วย ล่าสุด สายการบิน Aeroflot ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของรัสเซียประกาศระงับเที่ยวบินเส้นทางระหว่างประเทศ “ทุกเส้นทาง” เป็นการชั่วคราว (ยกเว้นเส้นทางสู่เบลารุส) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2565 เป็นต้นไป

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครนกลายเป็นวิกฤติที่ซ้ำเติมภาคท่องเที่ยวไทยมากขึ้นไปอีก หลังต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ยาวนาน 2 ปี เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 และเพิ่งกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวรัสเซียหนีหนาวเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนระยะยาวในไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย แต่ยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับภาวะปกติเมื่อปี 2562

“บรรยากาศความตึงเครียดส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ยิ่งสายการบิน Aeroflot ประกาศหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทางรวมไทย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรัสเซียเที่ยวไทย จากปัจจุบันนักท่องเที่ยวรัสเซียกำลังประสบปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงแรมในไทยต้องแก้ปัญหาด้วยการให้นักท่องเที่ยวรัสเซียชำระเงินล่วงหน้ามาก่อน หากจองผ่านเอเย่นต์ ทางโรงแรมเองก็ต้องพิจารณาเครดิตของแต่ละเอเย่นต์ด้วย”

 

++ ดึงทัวริสต์ชาติอื่นชดเชยรัสเซีย

เมื่อตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียหายไป ทำให้เอกชนท่องเที่ยวต้องเร่งหาตลาดทดแทน เช่น จากยุโรป ที่แม้ในช่วงนี้ยอดนักท่องเที่ยวอาจจะตกลงบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเข้าสู่ช่วงปลายไฮซีซั่น แต่ก็ยังมีดีมานด์เดินทางมาไทย นอกจากนี้ยังมีตลาดอินเดียที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบการจัดทำความตกลง Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ต้องรอดูผลลัพธ์หลังจากสายการบินต่างๆ เริ่มทำการบินระหว่างสองประเทศมากขึ้น ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางยังคงมีศักยภาพ รวมถึงออสเตรเลียที่มีดีมานด์มาเที่ยวภาคใต้ของไทย

“ตอนนี้ปัจจัยลบรุมเร้าหลายอย่างมาก ทั้งวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนและโควิด-19 โดยสมาคมฯมองว่าอยากให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go และการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงไทย เพราะยังเป็นเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกไปเที่ยวประเทศอื่นแทน”

 

++ ท้าทายเป้าปี 65 ต่างชาติเที่ยวไทย 10 ล้านคน

ก่อนหน้านี้ นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 ที่ 10 ล้านคน มองว่าหากยังไม่ยกเลิกระบบ Test & Go ซึ่งมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยุ่งยาก อาจได้นักท่องเที่ยวแค่ 10% ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 หรือคิดเป็น 4 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้กรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้เป้าหมายมีต่างชาติเที่ยวไทย 10 ล้านคนของรัฐบาลยากยิ่งขึ้นไปอีก

 

++ เร่งช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรัสเซียตกค้าง

ล่าสุดสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกสมาคมฯในฐานะเจ้าบ้านที่ดี  ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรัสเซียที่อาจจะยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศรัสเซียได้ตามกำหนด หลังจากสายการบินบางสายได้ระงับการบิน โดยประสานงานต่อกับทางสถานกงสุลรัสเซีย ประจำจังหวัดภูเก็ต พร้อมขอให้สมาชิกและโรงแรมช่วยเหลือให้นักท่องเที่ยวรัสเซียได้อาศัยต่อในช่วงเวลาสั้นๆ ในราคาพิเศษเท่าที่จะทำได้ รวมถึงการดูแลอื่นๆ ที่จำเป็นในห้วงระยะเวลาการแก้ปัญหา

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า วันนี้ (7 มี.ค.) จะหารือกับเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ต เพื่อรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังสายการบิน Aeroflot หยุดทำการบินทุกเส้นทางรวมถึงภูเก็ต

ทั้งนี้สมาคมฯอยากให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยหาทางออกของปัญหาเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินของนักท่องเที่ยวรัสเซีย เช่น สามารถรับสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) ในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงคราม จำเป็นต้องหาวิธีรับมือเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงไฮซีซั่น พ.ย.-ก.พ.ที่ผ่านมา ตลาดรัสเซียเที่ยวภูเก็ตกำลังฟื้นตัวดี เดินทางเข้ามาเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค.ด้วยซ้ำ แต่พอมีกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครนมาแทรกแซง ก็ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของสายการบินในภาพรวม ประกอบกับค่าเงินรูเบิลตก ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยว เกิดปัญหาทั้งเรื่องกำลังซื้อหดตัวและเงินเฟ้อ”

ทั้งนี้จากสถิติของด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.2564-4 มี.ค.2565 พบว่ามีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าภูเก็ตมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 54,774 คน รองลงมาคือเยอรมนี 27,845 คน สหราชอาณาจักร 22,922 คน ฝรั่งเศส 17,166 คน และสวีเดน 15,013 คน

 

++ ททท.ชะลอโปรโมทตลาดรัสเซีย

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือยังมีนักท่องเที่ยวรัสเซียตกค้างในไทยจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่อยู่ที่ภูเก็ตและสมุย ทาง ททท.เตรียมหารือกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของทั้งภูเก็ตและเกาะสมุยในช่วงต้นสัปดาห์นี้เกี่ยวกับการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ส่วนเรื่องกิจกรรมส่งเสริมการขายก็ต้องชะลอไว้ก่อน เน้นแก้ปัญหาช่วยเหลือนักท่องเที่ยวก่อน โดยนักท่องเที่ยวบางคนอาจประสงค์พำนักในไทยต่อเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ ยังไม่รีบกลับประเทศรัสเซียในตอนนี้

“อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นนักท่องเที่ยวรัสเซีย ยังคงต้อนรับคนจากทุกประเทศ แต่เนื่องจากสายการบินของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็น Aeroflot และ S7 หยุดบิน กระเทือนถึงนักท่องเที่ยวรัสเซียไม่สามารถบินตรงเข้าไทยได้ แต่ยังสามารถเดินทางแวะต่อเครื่องที่ฮับบินตะวันออกกลางมากรุงเทพฯและภูเก็ตได้ โดย ททท.มีการทำข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเอมิเรตส์ และเอทิฮัด รวมถึงสายการบินอื่นๆ ในการทำตลาดดึงต่างชาติเที่ยวไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวรัสเซียซึ่งยังเป็นที่ต้องการของสายการบินเหล่านี้”

สำหรับสถิติเฉพาะวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทย 454 คน และเริ่มเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวรัสเซียรายวันลดลงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. จากที่เคยเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมากถึงวันละ 600-700 ราย ถือเป็นอันดับ 1 และ 2 มาโดยตลอด

 

++ ปรับเป้ารัสเซียเที่ยวไทยปีนี้จาก 2.5 แสนคน

นายฉัททันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ นักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นตลาดที่แข็งแรง แต่พอเกิดกรณีพิพาท ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลง สินค้าทางการท่องเที่ยวมีราคาแพงขึ้นมาก บวกกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้ ททท.ต้องปรับเป้าหมายใหม่ของตลาดรัสเซียเที่ยวไทยในปีนี้ จากก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวรัสเซียให้ได้ 2.5 แสนคน คิดเป็นการฟื้นตัว 17% ของจำนวน 1.48 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนเจอโควิด-19

ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนในภูเก็ต เกาะสมุย พัทยา และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เริ่มประสบปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยไม่สามารถชำระค่าห้องพักในโรงแรมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผ่านบัตรเครดิตได้ ภายหลังมีการสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียบางแห่ง

นอกจากนี้ โรงพยาบาลคู่สัญญาที่นักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ารับการรักษาพยาบาลอาจมีปัญหาการเคลียร์ค่ารักษาพยาบาล เพราะรับโอนเงินและเรียกเก็บจากบริษัทประกันไม่ได้ ขณะที่การโอนเงินจองค่าโรงแรม รถ Transfer หรือค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR สำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะสมัครในระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เพื่อเดินทางมาประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งในกลุ่มที่จองกับโรงแรมโดยตรงและจองผ่านเว็บไซต์บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA : Online Travel Agent)

 

++ 4 เดือน ‘ไทยเปิดประเทศ’ รัสเซียเที่ยวอันดับ 1

นับตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศ “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าประเทศไทยสะสมมากเป็นอันดับ 1 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งหมด (พ.ย.2564 - 28 ก.พ.2565) จำนวน 63,249 ราย คิดเป็นรายได้ประมาณ 4,100 ล้านบาท

โดยข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) ระบุว่า ตลอดเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาหลังรัฐบาลกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รอบใหม่ 1 ก.พ. พบว่ามีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าไทยเป็นอันดับ 1 จำนวน 17,599 คน จากจำนวนผู้เดินทางจริงทั้งหมด 203,970 คน รองลงมาคือเยอรมนี 13,964 คน สหราชอาณาจักร 11,278 คน ฝรั่งเศส 11,231 คน และสิงคโปร์ 8,839 คน

 

++ ต้น มี.ค.รัสเซียเที่ยวไทยหลุดท็อป 5

และเมื่อดูเฉพาะวันที่ 1-3 มี.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าไทย 886 คน ร่วงไปอยู่อันดับ 6 จากจำนวนผู้เดินทางจริงทั้งหมด 24,967 คน หลังกองกำลังทหารรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. ทำให้สหรัฐและประเทศพันธมิตรประกาศมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากสุด 5 อันดับแรกในช่วงดังกล่าวคือ เยอรมนี สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สหรัฐ และออสเตรเลีย

ทั้งนี้จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าไทยมากที่สุดในปี 2556 จำนวน 1.7 ล้านคน ส่วนในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยจำนวน 1.48 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 102,895 ล้านบาท

 

++ ชงแยกค่าธรรมเนียมน้ำมันฯจากราคาตั๋วบินในประเทศ

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ไทยเวียตเจ็ทจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าตั๋วเครื่องบินขึ้นบ้างเพื่อสอดรับกับราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติในเส้นทางบินระหว่างประเทศ สายการบินต่างๆ จะสามารถแยกรายการค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) กับราคาตั๋วให้ผู้โดยสารเห็นชัดเจน แต่เส้นทางบินภายในประเทศ ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยังไม่ได้อนุมัติให้สายการบินแยกรายการค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากค่าตั๋ว

“ทางสมาคมสายการบินประเทศไทยเตรียมยื่นเรื่องถึง กพท.ภายในเร็วๆ นี้ ขอแยกรายการค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากราคาตั๋วให้เด่นชัดสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ เพื่อสะท้อนต้นทุนจริง บรรเทาผลกระทบของสายการบินจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น”