5 เรื่องต้องรู้! ก่อนแลกหุ้น "SCB" ไป "SCBX" ภายใน 18 เม.ย. 65

5 เรื่องต้องรู้! ก่อนแลกหุ้น "SCB" ไป "SCBX" ภายใน 18 เม.ย. 65

สรุป 5 เรื่องสำคัญที่ "ผู้ถือหุ้น SCB" ต้องรู้! ก่อนแลกหุ้น "SCB" ไป "SCBX" ภายใน 2 มี.ค.- 18 เม.ย. 65 พร้อมช่องทางการ "แลกหุ้น"

ไทยพาณิชย์เดินหน้าปรับโครงสร้าง โดย "เอสซีบี เอกซ์" (SCBX) ประกาศทำคำเสนอซื้อ หรือ Tender Offer หุ้นทั้งหมดของ "ธนาคารไทยพาณิชย์" (SCB) กับผู้ถือหุ้นของ "SCB" เพื่อแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของ "SCBX" เพื่อเตรียมนำ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิกถอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากตลาดในวันเดียวกัน

สำหรับการ "แลกหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ SCB ไป SCBX เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อตัดสินใจแลกหุ้น หรือดำเนินการได้ทันภายในเวลาที่กำหนด โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้รวบรวม 5 เรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ ดังนี้ 

 

 1. ราคาหุ้น SCB ต่อ SCBX 

กระบวนการแลกหุ้นในครั้งนี้ SCBX จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตราดังต่อไปนี้

  • 1 หุ้นสามัญของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX
  • 1 หุ้นบุริมสิทธิของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX

 2. ข้อดี ในการแลกหุ้น SCB ไป SCBX 

2.1) หุ้นของ SCBX มีสภาพคล่อง ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ในขณะที่หุ้นของธนาคารฯ จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

2.2) มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX และธุรกิจใหม่ในอนาคต ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพสูง

2.3) สิทธิประโยชน์ด้านภาษี (บุคคลธรมดา) ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากกำไรจากการซื้อขายหุ้น (Capital Gain Tax) สำหรับหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นประเภทนิติบุคคลที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ จะไม่มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีสำหรับการขายหุ้นดังกล่าว เนื่องจากราคาแลกหุ้นเป็นราคาเดียวกับมูลค่าต้นทุนหุ้นธนาคารฯ เดิมของผู้ถือหุ้นแต่ละราย

 

 3. ข้อด้อย หากไม่แลกหุ้น SCB ไป SCBX 

3.1) หุ้นของ SCB ขาดสภาพคล่องเนื่องจากหุ้นของธนาคารจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

3.2) ขาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX และธุรกิจใหม่ในอนาคต

3.3) ไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี (บุคคลธรมดา) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

3.4) นโยบายการจ่ายเงินปันผลอาจเปลี่ยนแปลงไป

3.5) ได้รับข้อมูลข่าวสารของ SCB ลดลงเนื่องจากหุ้นของธนาคารฯ จะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์

 4. ระยะเวลารับซื้อหุ้น 

เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2565 ถึง วันที่ 18 เมษายน 2565 (เฉพาะวันทำการ) หรือระยะเวลาทำการของแต่ละช่องทางรับยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อ รวมทั้งสิ้น 30 วันทำการ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายเวลารับซื้อได้อีก โดยสามารถทำตามในกรณีต่างๆ ตามข้อ 5. ดังนี้

 

 5. ช่องทางในการตอบรับ หรือปฏิเสธการแลกหุ้น SCB ไป SCBX และเงื่อนไข 

5.1) กรณีผู้ถือหุ้นที่มีใบหุ้น (Scrip)

  • ผู้ถือหุ้นประเภทบุคคล

- สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ทั่วประเทศไทย

- ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) ได้แก่ SCBS, KKPS และ BLS

  • ผู้ถือหุ้นที่เป็นลูกค้า SCB WEALTH

- Investment Center

- ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) ได้แก่ SCBS, KKPS และ BLS

  • ผู้ถือหุ้นประเภทนิติบุคคล

- ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) ได้แก่ SCBS, KKPS และ BLS

 

5.2) ผู้ถือหุ้นที่ไม่มีใบหุ้น เช่น มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ (Scripless)

บริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยบริษัทหลักทรัพย์นั้นจะให้บริการรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นกับตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) ได้แก่ SCBS, KKPS, BLS และ ASP
 

5.3) ผู้ถือหุ้นที่ฝากหุ้นไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) สมาชิกเลขที่ 600 และ ผู้ถือหุ้น NVDR ทำได้ผ่าน ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) ได้แก่ SCBS, KKPS, BLS และ ASP

 

5.4) ลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด สามารถทำคำเสนอซื้อผ่านผ่านระบบได้ 2 ช่องทาง

- ระบบ eService ในเว็ปไซต์ www.scbsonline.com
- ปุ่ม My Menu ในแอปพลิเคชัน Streaming

-------------------------------------------------------

อ้างอิง : SCB