ทำไม “Swiss Private Banking” ถูกโจมตีว่าเป็นมิตรอาชญากร?

ทำไม “Swiss Private Banking” ถูกโจมตีว่าเป็นมิตรอาชญากร?

ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ตกเป็นประเด็นอื้อฉาวอีกครั้ง หลังจากมีการเปิดเผยรายงานธุรกรรมทางการเงินที่มีความน่าสงสัย ซ้ำเติมให้ "Swiss Private Banking" ถูกโจมตีว่าช่วยซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาโดยทางมิชอบ จนอาจเข้าข่ายเป็นมิตรกับอาชญากร

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเปิดรายงานข้อมูลการทำ “ธุรกรรมที่ไม่โปร่งใส” ภายใต้ผู้ใช้บัญชีของ “ธนาคารเครดิตสวิส” (Credit Suisse Bank) โดยในรายงานยังได้มีการเผยแพร่ข้อมูลกว่า 18,000 บัญชี ทั้งจากบัญชีส่วนบุคคลและนิติบุคคล ครอบคลุมบัญชีที่ถูกเปิดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 จนถึงทศวรรษที่ผ่านมา รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ 

นอกจากนั้น รายงานยังได้ระบุประเทศที่มีลูกค้าเปิดบัญชีมากที่สุด ซึ่งสะท้อนความพยายามในการซุกซ่อนเงินและทรัพย์สินของชนชั้นนำในประเทศนั้นๆ หนึ่งในนั้นคือ “ประเทศไทย” ที่มีการเปิดบัญชีที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ต่ำกว่า 1,000 บัญชี

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาคธนาคารของสวิส โดยเฉพาะ “Swiss Private Banking” หรือ วาณิชธนกิจสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ถูกโจมตีว่าป็น “หลุมหลบภัย” (ทางการเงิน) ของเหล่าผู้กระทำผิด อาชญากร และผู้มีอิทธิพล

อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์นั้นนับเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ศตควรรษที่ 18 ประกอบกับการบังคับใข้กฎหมายรักษา “ความลับของลูกค้า” ที่หนักแน่น จึงเป็นผลให้ธนาคารประเทศนี้ยังคงเป็นปลายทางที่น่าสนใจของเหล่านักธุรกิจหรือผู้มั่งคั่ง แม้จะไม่ได้มีประเด็นซ่อนเร้นเลยก็ตาม 

  •   “Swiss Private Banking” เหมือนหรือต่างกัน กับ “วานิชธนกิจ” ที่อื่น  

วานิชธนกิจ (Private banking) คือ หน่วยงานเฉพาะที่ให้บริการกับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (High-net-worth individual) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยบริการจากหน่วยงานนี้จะเป็นการดำเนินงานเพื่อช่วยบริหารทรัพย์สิน ทั้งยังช่วยสร้างและรักษาความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าจะมีผู้ช่วยให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งง่ายต่อการติดต่อขอคำปรึกษา และทำการติดตามมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิของตนเอง 

นอกจากนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้ยังได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ เป็นต้น

แต่ข้อหนึ่งที่สำคัญของ วาณิชธนกิจ คือ การรักษาความลับของข้อมูลที่เข้มข้นมาก เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นสูงสุด ทั้งยังช่วยป้องกันการแย่งลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการเสนอบริการที่คล้ายคลึงกันโดยคู่แข่ง 

ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ล้วนเป็นสิ่งที่วาณิชธนกิจแถบทุกพื้นที่มีไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม วาณิชธนกิจสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ หรือ “Swiss Private Banking” กลับมีความโดดเด่นที่มากกว่า และกลายเป็นจุดหมายของการฝากสินทรัพย์ของเหล่าผู้มั่งคั่งจากทั่วทุกมุมโลก 

ความน่าสนใจของวานิชธนกิจสวิส ไม่เพียงมาจากการที่ภาคการเงินมีความแข็งแกร่งและมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน แต่ยังมาจากระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ มั่นคง และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด พร้อมทั้งคับคั่งไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ 

อีกประการหนึ่ง คือ สวิสมีการแข่งขันของภาคธนาคารที่สูง ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำมาช่วยสร้างบริการทางการเงินที่ใหม่และมีความหลากหลาย ซึ่งทำให้ระบบการเงินของสวิส มีความทันสมัย พร้อมต่อการเป็นผู้นำด้านวงการธนาคารต่อไปในโลกอนาคต 

นอกจากนี้ ค่าเงิน “ฟรังก์สวิส” ยังมีความผันผวนต่ำ และมีเสถียรภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงถูกยอมรับให้เป็นสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ 

ความน่าสนใจทั้งหมดนี้ นับเป็นตัวช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและชื่อเสียงให้กับระบบการเงินในสวิส เมื่อมีชื่อเสียงและมาตรฐานที่ถูกยอมรับอย่างสากล ทำให้การดำเนินธุรกรรมภายใต้ธนาคารสวิสนั้นมีความสะดวกมาก เอื้อต่อการเข้าถึงสินค้าและบริการได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่ถือครองบัญชี สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจต่อไปอีกในอนาคต

  •   เหตุใดจึงเข้าข่ายเป็น "มิตรอาชญากร" ทางการเงิน?   

แม้ว่าภาคธนาคารของสวิสจะมีข้อดีมากมายตามที่ได้กล่าวไป แต่ในอีกด้าน ข้อดีบางประการของระบบการเงินที่น่าดึงดูดนี้ กำลังเปิดช่องให้ลูกค้าผู้มั่งคั่งบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาประโยชน์ เช่น ซุกซ่อนหรือปกปิดทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำอันผิดกฎหมายหรือศีลธรรม

ไม่นานมานี้ (ก.พ. 65) โครงการสืบสวนสอบสวนข้ามชาติเพื่อเปิดโปงข้อมูลการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยในธนาคารเครดิตสวิส หรือ “SuisseSecrets” ได้เผยแพร่รายงานข้อมูลการทำ “ธุรกรรมที่ไม่โปร่งใส” ภายใต้ผู้ใช้บัญชีของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของสวิส ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การทุจริต และอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ 

ข้อมูลธุรกรรมที่ต้องสงสัยดังกล่าว มีที่มาจากข้อมูลลูกค้าของธนาคารสวิสกว่า 18,000 บัญชี ทั้งจากบัญชีส่วนบุคคลและนิติบุคคล ครอบคลุมบัญชีที่ถูกเปิดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 จนถึงทศวรรษที่ผ่านมา และเชื่อมโยงกับบุคคลกว่า 30,000 รายทั่วโลก รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตาม ทางเครดิตสวิสได้ออกแถลงการณ์ ปฏิเสธในข้อกล่าวหาและการคาดเดาในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจโดยมิชอบของธนาคาร และด้วยกฎหมายว่าด้วยความลับด้านการธนาคารที่เข้มงวดของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ทางธนาคารขอไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมาได้ 

กฎหมายที่ทางเครดิตสวิสได้กล่าวถึงในทีนี้หมายถึง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ค.ศ.1934 หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กฎหมายธนาคารสวิส 1934” ซึ่งมีการบัญญัติเรื่องการรักษาความลับด้านการธนาคารไว้ในมาตรา 47 โดยใจความสำคัญของมาตรานี้ คือ การห้ามกระทำ ชักชวน หรือมีส่วนร่วมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้บริการกับบุคคลอื่น แม้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ตาม  

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงธนาคารที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภาคธนาคาร แม้ยุติการทำหน้าที่ไปแล้วก็ตาม โดยหากพบว่ากระทำหรือมีส่วนร่วมต่อการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางธนาคาร ก็จะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายของสวิสที่มีความเข้มงวดมาก ทำให้การรักษาความลับของลูกค้ากลายเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของภาคธนาคารสวิส 

แม้ว่ากฎหมายธนาคารสวิสจะช่วยให้เกิดความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือ ถึงกระนั้น กฎหมายนี้ก็กำลังจะทำให้ภาคธนาคารสวิส โดยเฉพาะวาณิชธนกิจ ถูกโจมตีว่าเป็นมิตรกับอาชญากร เนื่องจากการรักษาความลับที่เข้มงวดของลูกค้านั้นได้เปิดช่องให้เกิดการนำสินทรัพย์ที่ได้มาหรือมีอยู่โดยมิชอบ มาเก็บหรือซุกซ่อนไว้ที่ธนาคารสวิส เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากประเทศที่ลูกค้าเหล่านั้นได้ก่อเหตุหรืออาศัยอยู่

จากรายงานของ SuisseSecrets ยังได้มีการระบุถึงประเทศที่มีผู้ถือครองบัญชีธนาคารเครดิตสวิสมากที่สุด เช่น เวเนซุเอล่า อียิปต์ ยูเครน และไทย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศที่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ สอดคล้องกับความพยายามในการนำทรัพย์สินออกไปซุกซ่อนไว้ในบัญชีต่างประเทศ 

ทั้งนี้ผู้ที่ส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อให้ความเห็นว่า

กฎหมายว่าด้วยความลับด้านการธนาคารสวิสเป็นเพียงข้ออ้างในการปกป้องความเป็นส่วนตัวทางการเงิน แต่จริงแล้วพยายามปกปิดบทบาทอันน่าละอายของธนาคารสวิสในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มคนที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษี 

หากลูกค้าที่วาณิชธนกิจสวิสดูแลนั้นมีความมั่งคั่งมาจากกระทำที่ผิดทางกฎหมายหรือศีลธรรม การให้บริการต่างๆ ก็เสมือนเป็นการช่วยต่อยอดผลประโยชน์ของการกระทำผิด พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีกระทำผิดต่อไปอีก ฉะนั้น การตรวจสอบสถานะของลูกค้าและที่มาของทรัพย์สินจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นพื้นที่ให้เหล่าผู้กระทำผิดมาหลบซ่อน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลธุรกรรมที่น่าสงสัยของลูกค้าธนาคารเครดิตสวิสที่หลุดออกมา ก็ได้ช่วยตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการตรวจสอบสถานะลูกค้าของธนาคารแห่งนี้ แม้จะให้คำมั่นมาตลอดว่าจะขจัดลูกค้าที่เข้าข่ายกระทำความผิดก็ตาม

---------------------------------------------

อ้างอิง

บีบีซี ไทย

ทีมข่าวสืบสวนสอบสวน ประชาไท

James Chen

Swiss banking

Walter Stresemann