บลจ.ยูโอบี ตั้งเป้า AUM ปี65 โต 10% แตะ 2.64 แสนล. -จ่อออก Thematic ETF กองใหม่

บลจ.ยูโอบี ตั้งเป้า AUM ปี65 โต 10% แตะ 2.64 แสนล. -จ่อออก Thematic ETF กองใหม่

บลจ.ยูโอบี  ตั้งเป้า AUM ปี65 โต 10% แตะ 2.64 แสนล้านบาท จากปี64 ที่ 2.43 ล้านบาท เดินหน้าผู้นำด้านพัฒนานวัตกรรมการลงทุนและบริการด้านดิจิตอล พร้อมแนะลงทุนหุ้นยุโรป จีน ธีม ESG  ยังคงดัชนีหุ้นไทยปีนี้ 1,580 -1,770 จุด เหตุราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นดันรายได้ธุรกิจพลังงานสดใส

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายในปี 2565 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ที่ 2.64 แสนล้านบาท  เติบโต 10% จากปีก่อนที่ 2.43 แสนล้านบาท โดยในปี 2564 เติบโต 5% หรือในระดับใกล้เคียงกับการเติบโตของอุตสากรรม แม้ว่าในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 แต่ด้วยตัวเลขของการฉีดวัคซีนที่ปรับตัวสูงขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตามยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามระมัดระวัง ดังนั้น บลจ.ยูโอบี ยังคงแสวงหาโอกาสการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือกใหม่ๆ ให้กับนักลงทุน 

ล่าสุด บลจ.ยูโอบี ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการพัฒนากองทุน ETF รูปแบบใหม่ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นกองทุนที่สามารถลงทุนได้ทั้งผ่านตลาดหลักทรัพย์และผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ฮีโร่ อีทีเอฟ (UHERO) เป็น Thematic ETF กองแรกในไทย ที่มาพร้อมโอกาสการลงทุนลงทุนในเกมและอีสปอร์ตที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยต้องการให้นักลงทุนไทยได้มีโอกาสเข้าถึง ETF ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินไปซื้อกองทุนในต่างประเทศโดยตรง และมีการจัดการความเสี่ยงเรื่องค่าเงินจากการลงทุนผ่านนโยบายของกองทุน มากไปกว่านั้น ยังเป็น ETF กองทุนแรกที่ขยายช่องทางการลงทุน โดยรองรับช่องทางการซื้อขายทั้งจากนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้น สามารถลงทุนได้ผ่านโบรกเกอร์ และนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายกองทุนรวม ก็สามารถเข้าถึงการลงทุน UHERO ผ่านตัวแทนจำหน่ายได้อีกด้วย

และในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะออกกองทุน Thematic ETF มากกว่า 6 กองทุนขึ้นไปเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน ภายใต้ธีมการลงทุนเกี่ยวกับเมกะเทรนด์ ธีมของโลกเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง สำหรับการลงทุนในระยะปานกลางและยาว เช่น ธีมโลกร้อน และ 3 ธีมอนาคต ได้แก่ ปฏิบัติอุตสาหกรรม การเงินไร้ตัวกลาง ป้องกันภัยไซเบอร์ สำหรับกอง Thematic ETF กองที่สอง ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการของ ก.ล.ต. ในการพิจารณาจัดตั้งกองทุน คาดว่าจะสามารถเสนอขายได้ภายในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance เป็นกระแสที่บลจ.ยูโอบี เห็นว่าเริ่มมีนักลงทุนให้ความสนใจบนพื้นฐานความเชื่อว่า การสร้างสมดุลในการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ จะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการสร้างผลกำไรในระยะยาวได้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำของกลุ่มยูโอบีในภูมิภาค เพื่อปรับขั้นตอนการลงทุนให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของธุรกิจ ESG ที่เป็นไปตามแนวทางของ PRI (Principles for Responsible Investment) เข้ามาประกอบการตัดสินใจในการบริหารกองทุน ปัจจุบันเรามีการนำเสนอกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจ ESG ผ่านกองทุนรวมสำหรับลูกค้ารายย่อย กองทุนส่วนบุคคลสำหรับลูกค้าสถาบัน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมไปถึงกองทุนรวมที่มีอยู่แล้วและได้มีการปรับกระบวนการลงทุนตามแนวทาง ESG
 
อีกทั้งกลุ่มธุรกิจจัดการกองทุน ยูโอบี ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนเพื่อความยั่งยืนหลายแห่ง ในการใช้ประสบการณ์และกระบวนการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยและแนวทาง ESG อย่างเข้มงวด ผ่านกองทุนที่เรานำเสนอให้กับนักลงทุนทั่วโลก

สำหรับ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) ในฐานะบริษัทย่อยของกลุ่มธุรกิจจัดการกองทุน   ยูโอบี ที่ร่วมยึดมั่นตามวิสัยทัศน์อย่างแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแรกๆ ในประเทศไทยที่ปฏิบัติตามแนวทางของ PRI เกี่ยวกับการบูรณาการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ในกระบวนการลงทุนนั้น

ด้านการพัฒนาระบบซื้อขายกองทุนออนไลน์ ทาง บลจ.ยูโอบี ได้ริเริ่มพัฒนา Mobile application “UOBAM INVEST” และบนเว็บไซต์ผ่านระบบ Premier online ในช่วงหลายปีที่ผ่าน และได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการคิดค้นและพัฒนาบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้นักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงทุนมาทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น มากไปกว่านั้น ตอกย้ำความสำเร็จความผู้นำด้านดิจิตอล บลจ.ยูโอบี ได้รับรางวัล Best Digital Wealth Management จาก Asia Asset Management ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีกด้วย
 
นายวนา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ที่ผ่านมายังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐที่เศรษฐกิจเข้าสู่วัฏจักรระยะกลาง (Mid Cycle) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงภาคการผลิตที่เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน (Supply Chain Disruption) จนทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงขึ้นและกดดันให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

นอกจากนี้การแพร่ระบาดของ Omicron Variant ในช่วงปลายปีได้สร้างความกังวลและทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องกลับไปใช้มาตรการที่เข้มงวดและปิดประเทศอีกครั้งทั้งนี้ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ GDP ทั่วโลกในปี 2021 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9% ในขณะที่มีการปรับคาดการณ์ตัวเลขของปี 2022 ลดลงจาก 4.9% จากการประเมินในเดือนตุลาคม ลงสู่ระดับ 4.4% (ที่มา : World Economic Outlook Jan 2022)
 
ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้า ได้แก่ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและอยู่ในระดับสูง (Cost-Push Inflation) จากแรงกดดันจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานเกิดสภาวะชะงักงัน (Supply Chain Disruption)   ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องสอดคล้องการดำเนินนโยบายทางการคลัง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจนอกจากนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายพันธุ์อย่าง Omicron Variant รวมถึงในอนาคตที่อาจจะมีการกลายพันธุ์ใหม่ๆ จนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง  

ในส่วนของปัจจัยด้านการเมืองต้องติดตาม  ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึง การเลือกตั้ง Mid Term Election ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2022 ซึ่งมีความเสี่ยงที่พรรค Democrats จะเสียเสียงข้างมากในสภาให้กับพรรค Republicans ในการเลือกตั้ง อาจทำให้การผ่านร่างนโยบายที่สำคัญในอนาคตทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม
 
เรายังเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แม้ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำมาก ความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นเมื่อเทียบกับตราสารหนี้แล้วจึงมีมากกว่า

รวมถึงการลงทุนในหุ้นยังสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปในรูปแบบของราคาสินค้าหรือบริการที่สูงขึ้นได้บางส่วนทำให้การลงทุนในหุ้นสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ด้วยเช่นกัน (Inflation Hedged) ประกอบกับ ณ ปัจจุบันตลาดได้รับรู้ (Priced-In) ความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากกว่า 4-5 ครั้งแล้วสะท้อนว่าโอกาสการปรับตัวลงเริ่มน้อยแต่คงเหลือประเด็นสำคัญอย่างการทำ Quantitative Tightening อย่างการลด Balance Sheet ที่ยังขาดความชัดเจนซึ่งอาจจะทำให้ตลาดมีการปรับฐานได้อีกครั้งจนกว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มีนาคม ที่จะถึงนี้
 
นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  จากภาพรวมดังกล่าว แนะนำให้นักลงทุนอาศัยจังหวะที่มีการปรับฐานทยอยเข้าสะสมการลงทุนใน 5 กองทุน ดังนี้


1) การลงทุนในประเทศจีนที่ราคาหุ้นในปัจจุบันได้ซึบซับกับข่าวด้านลบในช่วงที่ผ่านมา และปัจจุบันเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนตลาดมากขึ้นและคาดว่าตลาดจีนจะมีบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นในปี 2022 แนะนำลงทุนใน กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ออล ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ - หน่วยลงทุนชนิดเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (UCHINA) และ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไชน่า เอ แชร์ อินโนเวชั่น ฟันด์ - หน่วยลงทุนชนิดเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (UCI) 

2) สำหรับนักลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนในระยะกลาง-ยาว แนะนำอาศัยจังหวะที่มีการปรับฐานแรงทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านกองทุนเปิด ยูไนเต็ด อิควิตี้ ซัสเทนเนเบิล       โกลบอล ฟันด์ (UESG), กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซัสเทนเนเบิล อิควิตี้ โซลูชั่น ฟันด์ - หน่วยลงทุนชนิดเพื่อผู้ถือหน่วยลงทุนทั่วไป (USUS) ที่ลงทุนในธีมที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด ESG รวมถึง กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินโนเวชั่น ฟันด์ (UNI) ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่เป็นนวัตกรรม