คลังออกบทวิเคราะห์ชี้ เป็นไปได้ยาก”หยวนดิจิทัล”แทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐ

คลังออกบทวิเคราะห์ชี้ เป็นไปได้ยาก”หยวนดิจิทัล”แทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐ

คลังออกบทวิเคราะห์”หยวนดิจิทัลและบทบาทในเวทีโลก” ระบุ แม้จีนเป็นประเทศแรกที่ออกสกุลเงินดังกล่าวโดยธนาคารกลาง แต่ยากในการแทนที่เงินดอลลาร์ เนื่องจาก เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเริ่มนำมาใช้งานจริง ขณะที่ ธปท.ได้ศึกษาและพัฒนาเงินบาทดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางแล้ว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังออกบทวิเคราะห์หัวข้อ”หยวนดิจิทัลและบทบาทในเวทีโลก”ในประมาณการเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสแรกของปี 2565 โดยระบุว่า จีนเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการออกสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง (CBDC) มาใช้สำหรับประชาชน ซึ่งมีชื่อว่า หยวนดิจิทัล (Digital Yuan: e-CNY) ซึ่งธนาคารกลางจีนได้มีการศึกษาและ พัฒนาหยวนดิจิทัลมาอย่างยาวนาน และได้ทดสอบการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2564 และถูกนำมาใช้งานในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่จีนเป็นเจ้าภาพ

หยวนดิจิทัลจะช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้งาน ผ่านแอปพลิเคชั่น E-Wallet โดยจะไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ในการโอน และหากใช้งานผ่าน DCEP Wallet App ที่สร้างโดยรัฐบาลจีน จะสามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้ด้วย ซึ่งการใช้งาน ในรูปแบบนี้ช่วยลดการสัมผัสได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังเป็นการสนับสนุนการ เข้าสู่สังคมไร้เงินสดและเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีก้าวสำคัญ

รวมถึง รัฐบาลจีนได้ใช้เป็นช่องทางในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินหยวนดิจิทัลให้กับประชาชน อีกทั้งหยวนดิจิทัลมีการตรวจสอบควบคุมดูแลโดยธนาคารกลางจีนโดยตรง ทำให้มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย สามารถติดตามเส้นทางการเงินได้ ทำให้ช่วยลดปัญหาการทำทุจริตทางการเงินต่างๆ รวมถึง ช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ

ในอนาคตคาดว่า คู่ค้าจากต่างประเทศจะสามารถทำธุรกรรมค้าขายกับจีนได้โดยตรง โดยไม่ต้องแลกผ่านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมจากขั้นตอนที่ลดน้อยลงและช่วยลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนลงได้

ทางการจีนมีเป้าหมายเริ่มต้นที่จะนำเงินหยวนดิจิทัลมาใช้ในประเทศเป็นอันดับแรก และต้องการเพิ่มทางเลือกและความหลากหลายให้กับตลาดสกุลเงินโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยการจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปนั้น จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่า ปัจจุบันยังเป็นไปได้ยากที่หยวนดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก เนื่องจาก หยวนดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเริ่มนำมาใช้งานจริง ยังต้องมีการติดตามผลและพัฒนาระบบให้มีเสถียรภาพ ให้เกิดความมั่นใจ มีความน่าเชื่อถือ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน รวมถึง ต้องอาศัยการยอมรับในระดับสากล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล สำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (retail CBDC) เช่นกัน หรือที่เรียกว่า เงินบาทดิจิทัล และ ขณะนี้มีแผนจะเริ่มทำ Pilot Test เพื่อทดสอบการใช้งานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยเบื้องต้นจะเป็นการทดลองใช้งานภายในธปท.ก่อน

โดยเน้นการทดสอบระบบกลาง ซึ่งจะมีผู้ให้บริการเข้ามาร่วมทดสอบด้วย เมื่อมั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่างๆ แล้วจึงจะเริ่มขยายวงทดสอบออกไปภายนอกต่อไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศสู่โลกดิจิทัลในที่สุด