‘ภาคธุรกิจ’หนุน‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ‘ตัวพลิกเกม’สร้างโอกาสใหม่

‘ภาคธุรกิจ’หนุน‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ‘ตัวพลิกเกม’สร้างโอกาสใหม่

“กรุงเทพธุรกิจ” จัด Virtual Seminar ในหัวข้อ “DIGITAL ASSET โอกาส และความเสี่ยง” หนึ่งในหัวข้อสำคัญ ว่าด้วยเรื่อง “DIGITAL ASSET พลิกโอกาส ล้ำอนาคต” มี “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา และ อริยะ พนมยงค์” ร่วมแชร์ไอเดีย โอกาสสินทรัพย์ดิจิทัล พลิกธุรกิจอนาคต

‘บิทคับ’มุ่ง‘ดิจิทัล อินฟราฯ’รับโลก3.0

“จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บอกว่า ยุคเว็บ 3.0 มีเทคโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมาย และสินทรัพย์ดิจิทัลทำให้เกิดโมเดลการทำธุรกิจใหม่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง อย่างเล่นเกม ออกกำลังกาย ฟังเพลง เรียนรู้แล้วได้เงิน

ขณะที่พัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่า ช่วง 4 ปีหลังมีพัฒนาสอดคล้องกับการเปลี่ยนไปสู่ยุคเว็บ 3.0 มากขึ้นทั้งการออกกฎหมายรองรับสินทรัพย์ดิจิทัล และสถาบันต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเพราะต้องการทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยบิซิเนสโมเดลใหม่
 

บิทคับ พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงตอนนี้เกิดขึ้นแล้วกว่า 100 โปรเจ็ค เริ่มจากวงการนางงาม ฟุตบอล และอีสปอร์ต

จะเห็นว่า มีหลากหลายวงการธุรกิจของไทยเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับบิทคับ เพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยดึงศักยภาพทางธุรกิจ ปลดล็อกในสิ่งที่อาจเคยคิดว่า “เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้” และเชื่อมต่อสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลบน “ดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์” ที่บิทคับเป็นผู้สร้าง

มอง NFT ปลดล็อกโมเดลธุรกิจเดิม

“ตอนนี้เราเหมือนเป็น คนขัดเพชร ที่ภาคธุรกิจเอาเพชรที่มีอยู่มาให้เราขัด ช่วยให้เพชรส่องประกาย สร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น พบว่า ปีนี้ Non-Fungible Token หรือ NFT เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับธุรกิจที่ชื่นชอบเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยโมเดลใหม่ได้ ปลดล็อกโมเดลธุรกิจเดิมๆ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มยอดขายได้”
 

“จิรายุส” บอกว่า บิทคับ เป็นธุรกิจในยุคเว็บ 3.0 ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น และวางเป้าหมายชัดเจน คือ เป็นผู้สร้าง “ดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์ของเว็บ 3.0” ที่แข็งแรงให้กับประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ในอนาคต

“เราวางดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์ของเว็บ 3.0 คือ สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน คริปโทเคอร์เรนซี และ NFT เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนทุกธุรกิจ เข้ามาเชื่อมต่อบนดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์นี้ได้ เพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่โลกเว็บ 3.0 แต่ธุรกิจจะทรานส์ฟอร์มสู่โลกเว็บ 3.0 ได้ แนะว่าก็เหมือนกับการลดน้ำหนัก ไม่ใช่เงินจะซื้อได้ทุกอย่าง ต้องลงมือ ลงแรง อย่างสม่ำเสมอ ใครอ้วนอาจใช้เวลานานกว่าคนผอม เพื่อให้เกิดโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่ยั่งยืน”

‘ก.ม.’ต้องทันต่อ‘พัฒนาของโลก’

ขณะที่ กฎเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย คงต้องหาตรงกลางให้ได้ระหว่างจะ “คอนเซอร์เวทีฟ” หรือ “ขับเคลื่อนไปข้างหน้า” กฏเกณฑ์การกำกับดูแล ต้องมีการศึกษาและมีไดนามิก คือ เปลี่ยนแปลงได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้อย่างรวดเร็ว และไม่เหมือนในอดีต เพราะอีก 5 ปีข้างหน้าจะเร็วกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อไดเร็คชั่นในโลกชัดเจนขึ้น การกำกับดูแลต้องมีพัฒนาการให้ทันต่อโลก ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเสียโอกาสอีกเหมือนในยุคเว็บ 2.0

“ส่วนตัวอยู่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยมา 8 ปี ยอมรับว่า ช่วง 4 ปีแรก เราเป็นประเทศหนึ่งที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เร็วมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาคริปโทเคอร์เรนซี และเกิดโครงการอินทนนท์ เมื่อปี 2560 และกำลังจะผลักดัน CBDC เร็วๆ นี้ แต่ช่วง 4 ปีหลัง หลายประเทศ เริ่มเข้ามากำกับดูแลมากขึ้น มีทั้งประเทศที่เข้มงวด เช่น จีนแบนคริปโทฯ หรือประเทศที่เปิดโอกาสกว้างขึ้น เช่น ดูไบตั้งฮับเทรดคริปโทฯ หรือ เทสล่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเข้ามาลงทุนในคริปโทฯ ขณะที่ไทยดูเหมือนว่า 4 ปีแรก ที่เคยเร็ว แต่ 4 ปีหลังอาจเป็นฝ่ายตามดูไบ และสหรัฐมากกว่า” จิรายุส กล่าว

สยามพิวรรธน์ เล็งออก‘โทเคน-คอยน์’

“อริยะ พนมยงค์” ประธานบริหารสายงานนวัตกรรม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational  บอกว่า การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมาก สยามพิวรรธน์หนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีก อยู่ระหว่างเตรียมออกเหรียญโทเคนดิจิทัล เอ็นเอฟที (NFT) เดือน มี.ค.นี้ ซึ่งมีศิลปินต่างๆ ให้ความสนใจการเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมาก

ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่เอ็นเอฟทีของสยามพิวรรธน์ เป็นการขยับสู่โลกอินเทอร์เน็ตยุคใหม่หรือ web 3.0 ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท คู่ค้า พันธมิตร และลูกค้าให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ช่วงเผชิญวิกฤติโควิด-19 สยามพิวรรธน์ใช้เวลา 13 เดือน ทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีกจากยุค 1.0 ไปสู่ 2.0 คือ พัฒนา “วันสยาม ซูเปอร์แอพ” เชื่อมต่อธุรกิจของบริษัท ธุรกิจของผู้เช่าพื้นที่ พันธมิตรต่างๆ รวมถึงฝั่งลูกค้าให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน พลิกโลกค้าปลีก จากการชอปปิงผ่านร้านกายภาพแบบเดิมไปสู่อีคอมเมิร์ซที่แตกต่างออกไป

หลังเปิดตัววันสยาม ซูเปอร์แอพ คู่ค้า พันธมิตร รวมถึงลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี เพราะแบรนด์สินค้าและบริการสามารถเชื่อมต่อถึงลูกค้าปลายทางได้สะดวกขึ้น ส่วนลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างจากสิ่งที่มีในตลาด ด้านบริษัทได้เห็นพฤติกรรมการชอปปิงของลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ได้

“ปลายปีที่ผ่านมาเราเปิดตัววันสยาม ซูเปอร์แอพ เชื่อมต่อธุรกิจค้าปลีกของสยามพิวรรธน์กับพันธมิตรคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่โลกเว็บ 3.0 ออกสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะขยายทำอะไรได้อีกมาก เช่น ออกโทเคน หรือคอยน์ เพื่อต่อยอดการทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าหรือลอยัลตี โปรแกรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจลื่นไหล เห็นกลไกที่นำไปต่อยอดสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม”

ย้ำทรานส์ฟอร์ม อย่าตกขบวนยุค 3.0

สำหรับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างรวดเร็วเพื่อรับโลกอนาคตเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องตระหนักมากขึ้น และไม่ควรกังวลกับสปีดหรือความเร็ว แต่ควรกลัวการขับเคลื่อนที่ช้าเกินไป เนื่องจากบทเรียนธุรกิจในอดีตที่ธุรกิจเคลื่อนจากโลกอินเทอร์เน็ต 1.0 ไปสู่ 2.0 หลายองค์กรตกขบวนรถไฟ เพราะไม่ยอมกระดิกหรือปรับตัวรับเทรนด์การตลาดดิจิทัล ออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา

“เมื่อพูดถึงเว็บ 3.0 โลกเสมือนจริงหรือเมตาเวิร์ส อาจยังไม่เข้าใจ 100% แต่ทุกคนต้องพิจารณากระโดดเข้ามา เพราะบทเรียนก่อนหน้านี้ หลายองค์กรเคยพลาดไปแล้ว แต่ตอนนี้พลาดไม่ได้ ต้องพยายามสร้างให้เร็วสุด อย่างสยามพิวรรธน์ที่กระโดดจากเว็บ 1.0 สู่ 2.0 และกำลังเข้าสู่เว็บ 3.0 อย่ากลัวเรื่องความเร็ว แต่จงกลัวที่ช้า”

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล ยังมีกฏเกณฑ์ภาครัฐที่อาจเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะผู้ที่อยู่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความรู้ระดับหนึ่ง เมื่อเข้าไปลงทุนเองยังเจ็บตัว หากเป็นประชาชนทั่วไปอาจไม่รอดผลกระทบ เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลราคาปรับขึ้นแรงอาจติดดอยและพาตกเหวได้ จึงต้องมีหน่วยงานคอยปกป้องผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ทั้งนี้ เพื่อขจัดอุปสรรคและทุกอย่างเดินได้ควรเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนออกกฏ กติกาเป็นสิ่งที่ดีสุด

เจมาร์ทปักธง‘คอมเมิร์ซ-ฟินเทค’

“อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เล่าว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วของการเปิดตัว “เจฟินคอยน์” ซึ่งเป็นรายแรกที่เข้ามาบุกเบิกตลาดดิจิทัลโทเคนในประเทศไทย ไม่เคยคาดคิดว่า จะเกิดภาพเช่นวันนี้ แต่ส่วนตัวชอบด้านเทคโนโลยี เชื่อในบล็อกเชน เชื่อว่า ต่อไปจะไม่มีตัวกลาง พื้นฐานของต้นทุนที่ต่ำ มีความรวดเร็วและเชื่อถือได้ จึงตัดสินใจที่จะทำ ซึ่งมาถึงวันนี้นับว่าเกินความคาดหมายและได้เห็นว่าทุกคนอยากที่จะออกคอยน์ในลักษณะต่างๆ

“ทิศทางธุรกิจของเจมาร์ทมุ่งปักธงในตลาดคอมเมิร์ซและฟินเทค แม้จะเห็นว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก ต้องการเงินสำหรับลงทุน รวมถึงกฏเกณฑ์ภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ มาจากการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการทรานส์ฟอร์มบริษัทในเครือ บวกกับสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมภายในและที่ทำกับคู่ค้า ปูทางสร้างการเติบโตด้วยฐานลูกค้าที่มี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้สามารถกำไรได้สูงสุดต่อเนื่องแม้ช่วงวิกฤติโควิด

ยอดขายทะลุพันล้านบาท

อดิศักดิ์ เผยว่า จากวันแรกที่ไอซีโอมีฐานผู้ใช้งานเจฟินเพียง 2 พันราย มาวันนี้เพิ่มขึ้นมาแตะ 7 แสนราย และมี 24 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ บิสิเนสโมเดลของเจมาร์ทให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับฐานลูกค้า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายจากธุรกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลเจฟินคอยน์ได้ประมาณ 1,100 ล้านบาท

ปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลได้เข้าไปอยู่ในทุกธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ทแล้ว และหลังจากนี้อีโคซิสเต็มส์ของบริษัทจะยิ่งขยายใหญ่มากขึ้น สำหรับบริการใหม่ๆ ที่จะตามภายในปีนี้จะมีทั้งที่เกี่ยวกับเอ็นเอฟที การกู้เงิน และเมตาเวิร์ส หวังว่าเจมาร์ทจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดี มีส่วนผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย

สำหรับ เป้าหมายในการรุกตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลใน 3-5 ปีจากนี้ เชื่อว่าด้วยสปีดของเทคโนโลยีจะไปได้เร็วกว่าที่คาดหวังเอาไว้ การที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในกลุ่มหวังว่าจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งบริษัทในเครือและประเทศในฐานะต้นแบบที่จะทำให้เกิดการผลักดันด้านกฎหมาย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ

“ผมเชื่อในพลังของเทคโนโลยี และหวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญและเข้ามาสนับสนุน เมื่อบริษัทสามารถแข็งแรงขึ้นได้จากการทรานสฟอร์ม ประเทศก็ควรจะแข็งแรงขึ้นจากการทรานส์ฟอร์มเช่นเดียวกัน”