‘เงินบาท’ วันนี้เปิดพลิก’อ่อนค่า’สุดในรอบ2สัปดาห์ที่32.68บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิดพลิก’อ่อนค่า’สุดในรอบ2สัปดาห์ที่32.68บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาททยังผันผวนในกรอบกว้างจากแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่หากราคาทองยังปรับขึ้นคาดเงินบาทไม่อ่อนค่าไปมาก มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 32.65-32.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(2 มี.ค.)ที่ระดับ  32.68บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า2สัปดาห์และอ่อนค่าจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.61 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่กว้าง โดยมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะถ้าราคาทองคำยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดที่ได้ Buy on Dip ก่อนหน้า จะกลับเข้ามาทยอยขายทำกำไรทองคำ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมทองคำจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝั่งซื้อสุทธิหุ้นไทย ก็อาจช่วยหนุนเช่นกัน โดยในระยะสั้นนี้ เราคงมอง แนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ใกล้โซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.40 บาทต่อดอลลาร์  

ตลาดการเงินกลับมาเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหนักอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่การเจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ล่าสุดยังไม่ประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มกังวลความเสี่ยง Stagflation (ภาวะเงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจซบเซา) มากขึ้น หลังราคาสินค้าพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รวมถึงผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่รุนแรงขึ้นอาจกดดันภาพรวมเศรษฐกิจโลกได้ 

แรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนได้กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลงหนัก โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.59% แม้ว่าสัญญาณเชิงเทคนิคัลจะเริ่มเกิดภาพ bullish divergence ขึ้นก็ตาม ส่วนดัชนีS&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.55% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลงกว่า -4.04% จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มการเงินที่หนักหน่วงจากความกังวลว่า หากมีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรถึงขั้นตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT นั้นอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นสถาบันการเงินยุโรปอย่างมาก เนื่องจากมีสัดส่วนการทำธุรกรรมกับรัสเซียที่สูง ING -10.7%, Intesa Sanpaolo -7.7% นอกจากนี้ ราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ยังปรับตัวลงแรง อาทิ Volkswagen -7.6%, Daimler -5.2% ท่ามกลางแรงกดดันจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ อย่าง แพลเลเดียม ที่พุ่งสูงขึ้นจากภาวะสงครราม ทั้งนี้ เรายังคงมองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนต่อไปในระยะสั้น และนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจากมาตรการคว่ำบาตร ณ ปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม หลังสถานการณ์สงครามอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียอยากที่จะชนะศึกในระยะสั้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเจรจา จนอาจทำให้ก่อความเสียหายที่รุนแรง

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่วางใจกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ยังคงมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลง 6bps แตะระดับ 1.74% อย่างไรก็ดีเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการปรับนโยบายการเงิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่าง สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะ ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ เพราะหากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามต่อภาพรวมเศรษฐกิจอาจไม่ได้มาก แต่สหรัฐฯ ยังคงเผชิญปัญหาเงินฟ้อ ก็อาจทำให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจหนุนให้บอนด์ยีลด์สามารถปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย(Safe Haven) ท่ามกลางความกังวลภาวะสงคราม และแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 58.6 ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ แม้จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น โดยล่าสุดแรงซื้อเงินดอลลาร์ได้หนุนให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.39 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่ราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ  1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เช่นกัน หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความเสี่ยงของสถานการณ์สงคราม อย่างไรก็ดีเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายทำกำไรราคาทองคำได้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านก่อนหน้าในช่วง 1,975 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำอาจพอช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมากได้ในระยะสั้นนี้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาความรุนแรงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและท่าทีของฝั่งตะวันตกต่อการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวังกรณีที่ รัสเซียจะบุกโจมตีหนักขึ้นเพื่อเอาชนะยูเครนให้ได้ในสัปดาห์นี้ ทำให้เกิดความสูญสียต่อชีวิตพลเรือนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงจากนานาประเทศได้ ทำให้เรามองว่าความเสี่ยงสงครามจะกดดันให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผันผวนในระยะสั้นได้

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์สงคราม ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการต่อสภาคองเกรสว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมุมมองของประธานเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต จากความเสี่ยงภาวะสงครามที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ตลาดจะจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อผลกระทบของสงครามที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินเฟด ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์สุดท้าย ก่อนจะเข้าสู่ช่วง Black Out ที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะไม่สามารถออกมาให้สัมภาษณ์ได้ก่อนการประชุมเฟดในช่วงกลางเดือนมีนาคม