แนวโน้มและการแข่งขัน  “ธุรกิจคลังสินค้า”

การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าเป็นธุรกิจบริหารงานโลจิสติกส์ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ ทั้งกระบวนการผลิต การค้า และการขนส่ง

โดยผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบคลังสินค้าแบบดั้งเดิมมาเป็นคลังสินค้าสมัยใหม่มากขึ้นเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า และเป็นช่องทางสร้างรายได้จากบริการเสริมอื่นๆ นอกเหนือจากค่าเช่าพื้นที่ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารให้ได้มาตรฐาน พัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร รวมถึงการวางโครงสร้างอาคารที่ป้องกันภัยพิบัติ

ภาวะธุรกิจคลังสินค้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต การค้า การลงทุนและกิจกรรมการใช้จ่ายสินค้าของครัวเรือน นอกจากนี้ ศักยภาพของทำเลที่ตั้งและลักษณะคลังสินค้ายังส่งผลต่อความต้องการเช่าและการเติบโตของรายได้ของธุรกิจนี้ด้วย 

โดยวิจัยกรุงศรี คาดว่า ในช่วงปี 2565 - 2567 ความต้องการเช่าพื้นที่ของคลังสินค้าทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี จากการพัฒนาโครงการในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจการค้าออนไลน์ และธุรกิจโลจิสติกส์ ขณะที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการลงทุนพื้นที่คลังสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0% ต่อปี คลังสินค้าแช่เย็น/แช่แข็ง ความต้องการใช้บริการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2564 ยังได้อานิสงส์จากการขยายตัวของธุรกิจอาหาร (อาทิ ผลไม้ ผัก ผลิตภัณฑ์นม ปลาและเนื้อสัตว์) ตลอดจนวัคซีนและยารักษาโรค 

อย่างไรก็ตาม อุปทานส่วนเกินยังมีค่อนข้างสูง จากการขยายพื้นที่คลังสินค้าของผู้ประกอบการในภาคการผลิตกลุ่มต่างๆ ได้แก่ 1) คลังสินค้าแช่เย็น/แช่แข็งที่เก็บรักษาผลไม้ขององค์กร เพื่อรอการจำหน่าย/ส่งออก 2) คลังสินค้าห้องเย็นในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง 3) คลังสินค้าส่วนบุคคลของผู้ประกอบการกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่ และ 4) คลังสินค้าใหม่แบบ Super-frozen เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ 

คลังสินค้าธัญพืชหรือไซโล ความต้องการใช้บริการจะผันผวนตามปริมาณผลผลิตเกษตร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังชะลอการลงทุนขยายธุรกิจ เนื่องจาก 1) อุปทานส่วนเกินที่มีจำนวนมาก 2) ความต้องการใช้พื้นที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2566-2567 ตามผลผลิตธัญพืชจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และ 3) การแข่งขันรับซื้อผลผลิตเพื่อเก็บสะสมเป็นสต็อกในคลังสินค้ามีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้าเก็บธัญพืชด้วยกันเอง ผู้ประกอบการที่เป็นพ่อค้าคนกลาง และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลผลิตเกษตร (ล้ง)

วิจัยกรุงศรี ยังมองว่า ผู้เล่นธุรกิจคลังสินค้าในช่วงปี 2565-2567 ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จาก 1) การลงทุนขยายพื้นที่ให้เช่าต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะคลังสินค้าทั่วไป และ 2) การขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งจากกลุ่มธุรกิจอื่นโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการต่างชาติ และผู้ประกอบการร่วมทุนระหว่างกันเพื่อขยายขอบเขตบริการด้านโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมถึงบริการด้านคลังสินค้า นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านผังเมืองที่กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับการสร้างคลังสินค้า อาทิ ผังเมืองพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ไม่สามารถสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต/ห้องเย็นที่มีขนาดเกินกว่า 2,000 ตารางเมตร ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ เช่น การเสริมระบบเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ชั้นวางสินค้า ระบบขนถ่ายวัสดุ ระบบลำเลียงและระบบการบริหารจัดการต่างๆ รวมไปถึงการปรับรูปแบบเป็นคลังสินค้าสมัยใหม่ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้และตอบสนองการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2565-67: ธุรกิจคลังสินค้า” อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่

https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/logistics/warehouse-space/io/io-warehouse-space-2022

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์