เทรนด์ "ฟินเทค" สุดปัง ปี 64 ยอดลงทุนทั่วโลกพุ่งสูง 2.1 แสนล้านดอลลาร์

เทรนด์ "ฟินเทค" สุดปัง ปี 64 ยอดลงทุนทั่วโลกพุ่งสูง 2.1 แสนล้านดอลลาร์

เคพีเอ็มจี เผยยอดเงินลงทุนในฟินเทคปี 64 สูงถึง 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ จากเงินลงทุนในคริปโทและบล็อกเชนที่พุ่งขึ้น คาดในปี 65 นี้ยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานเกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนในเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Fintech) Pulse of Fintech H2’21 ซึ่งจัดทำขึ้นปีละสองครั้งโดย เคพีเอ็มจี พบว่า ในปี 2564 การลงทุนใน Fintech ทั่วโลกผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition – M&A) การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity – PE) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital – VC) มียอดรวมสูงถึง 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการทำดีล (Deals) ทั้งสิ้น 5,684 ครั้ง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยยอดเงินลงทุนใน Fintech ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (H2’21) อยู่ที่ 101,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งต่ำกว่าครึ่งแรกของปี (H1’21) ซึ่งมียอดเงินลงทุนที่ 109,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย

ดีลการลงทุนในบริษัท Fintech ที่ใหญ่ที่สุดของช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีมูลค่า 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการที่บริษัท Nexi ที่ตั้งอยู่ในอิตาลี ซื้อบริษัท Nets ซึ่งเป็นบริษัทในเดนมาร์กที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบชำระเงิน (Payments processor) รองลงมาคือ การควบรวมของ Calypso Technology ที่ทำระบบคลาวด์ (Cloud) เข้ากับ AxiomSL ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการกำกับดูแล (RegTech) เพื่อจัดตั้งบริษัท Adenza ในสหรัฐอเมริกาด้วยทุนจดทะเบียน 3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการซื้อบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น Paidy โดย PayPal ด้วยเงิน 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในครึ่งหลังของปี 2564 มี VC สี่ดีลที่สามารถระดมทุนได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่

  1. บริษัท Generate ในสหรัฐอเมริการะดมทุนได้ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  2. ธนาคาร NuBank ในบราซิลระดมทุนได้ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. บริษัท Chime ในสหรัฐอเมริการะดมทุนได้ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. บริษัท FTX ในบาฮามาสที่ระดมทุนได้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ระบบการชำระเงินยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถระดมทุนได้มากที่สุด โดยในปี 2564 สามารถระดมทุนทั่วโลกรวมกันได้ 51,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 29,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 อันเนื่องมาจากความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในธุรกิจรูปแบบ "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" โดยการชำระเงินที่ฝังตัวเป็นส่วนหนึ่งของการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการ (Embedded banking) และการที่สถาบันการเงินเปิดให้เชื่อมต่อ API ได้ (Open Banking) ทำให้ธุรกิจด้านการชำระเงินนั้นได้รับความสนใจเสมอมา 

นอกจากนี้ บล็อกเชนและคริปโท เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและสามารถระดมทุนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 30,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจาก 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และมากกว่าสถิติเดิมที่ทำไว้ในปี 2561 ถึงสามเท่าที่ 8,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) สามารถระดมทุนได้ 4,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเทคโนโลยีการลงทุนบริหารความมั่งคั่ง (Wealthtech) สามารถระดมทุนได้ 1,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกลุ่มธุรกิจสองกลุ่มหลังนี้ต่างระดมทุนได้สูงสุดในประวัติการณ์เช่นกัน

เทรนด์ "ฟินเทค" สุดปัง ปี 64 ยอดลงทุนทั่วโลกพุ่งสูง 2.1 แสนล้านดอลลาร์

แอนทอน รูเด็นคลาว หัวหน้าฝ่ายกลุ่มธุรกิจฟินเทค เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีที่รุ่งเรืองสำหรับตลาดฟินเทคทั่วโลก เนื่องจากจำนวนดีลเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเห็นความสนใจที่ล้นหลามในธุรกิจฟินเทค และมีการระดมทุนได้มากสุดในกลุ่มธุรกิจบล็อกเชนและคริปโท Cyber security และ Wealthtech ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีด้านการชำระเงินยังเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันการลงทุนและการขยายตัวของอุตสาหกรรมฟินเทคที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับในปี 2565 นี้ คาดการณ์ว่าการลงทุนในฟินเทคยังคงมีความคึกคัก โดยมีการลงทุนจะกระจายตัวไปยังตลาดที่ยังเติบโตไม่มากนัก เช่น แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลาตินอเมริกา อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าการทำ M&A จะเพิ่มสูงขึ้น โดยที่มูลค่าดีลจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากทั้งองค์กรใหญ่และบริษัทฟินเทคต่างต้องการที่สร้างการเติบโต นอกจากนี้ คาดว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG) และการปรับปรุงระบบการทำงานของภาคธนาคาร (core banking modernization) จะได้รับความสำคัญมากขึ้นในระยะถัดไป ทั้งนี้ บริษัทฟินเทคพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับข้อมูล (Data) มากกว่าเป็นเพียงบริษัทฟินเทคอย่างเดียว

"ปี 2565 คาดว่าคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และบล็อกเชนยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยที่บริษัทคริปโทต่างต้องการให้หน่วยงานกำกับดูแลออกแนวทางและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนี้ ภาคธนาคารเริ่มตระหนักถึงข้อจำกัดที่สำคัญของระบบเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ใช้อยู่ ดังนั้น คาดว่าธนาคารจะมีการลงทุนขนานใหญ่เพื่อยกเครื่องระบบการทำงานของ core banking" แอนทอน รูเด็นคลาว หัวหน้าฝ่ายกลุ่มธุรกิจฟินเทค เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว 

เทรนด์ "ฟินเทค" สุดปัง ปี 64 ยอดลงทุนทั่วโลกพุ่งสูง 2.1 แสนล้านดอลลาร์

ด้าน คริสโตเฟอร์ ซาวน์เดอร์ส เผยถึงเทรนด์การเติบโตในลักษณะเดียวกันในประเทศไทย โดยการลงทุนในฟินเทคขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศที่มีความต้องการที่จะขยายธุรกิจและกระจายความเสี่ยง (Diversify) อย่างรวดเร็ว การเสนอข้อกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตธนาคารเสมือน (Virtual bank) จะช่วยผลักดันให้ฟินเทคยังคงเติบโตได้ในระยะกลาง

"การลงทุนในสกุลเงินคริปโทก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีหลายบริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ธนาคารไทยพาณิชย์เสนอซื้อบริษัท BITKUB และการร่วมมือกันระหว่าง Binance กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีเพื่อศึกษาศักยภาพของการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ และการที่สหรัฐอเมริกาจะออกประกาศเกี่ยวกับคริปโทจะช่วยให้มีแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงนโยบายด้านการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่คำถามสำคัญคือจะเติบโตรวดเร็วแค่ไหนและอย่างไร" กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทย ทิ้งท้าย

สรุปประเด็นสำคัญในปี 2564

  • ในปี 2564 การลงทุนในฟินเทคของทั่วโลกอยู่ที่ 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่าน 5,684 ดีล ซึ่งเพิ่มจาก 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 3,674 ดีลในปี 2563
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการชำระเงินเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุดในปี 2564 โดยมีการลงทุนทั่วโลกสูงถึง 51,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การลงทุนในบล็อกเชนและคริปโท (Blockchain and Crypto) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) และเทคโนโลยีการบริหารความมั่งคั่ง (WealthTech) ทำยอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30,200 4,850 และ 1,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ 
  • ในปี 2564 การลงทุนในเทคโนโลยีการประกันภัย (Insurtech) และเทคโนโลยีด้านการกำกับดูแล (RegTech) ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยมียอดการลงทุนอยู่ที่ 14,400 และ 9,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
  • การควบรวมกิจการฟินเทคระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า (ปีต่อปี) อยู่ที่ 36,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยอดรวมการควบรวมกิจการชองฟินเทคเพิ่มขึ้นจาก 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 83,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564
  • การลงทุนในฟินเทคในรูปแบบ PE เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากสถิติเดิม คือ มีการลงทุนทั้งหมด 12,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เมื่อเทียบกับสถิติเดิมที่ทำไว้ในปี 2561 ที่ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การลงทุนจาก VC ในกลุ่มธุรกิจฟินเทคทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (ปีต่อปี) จาก 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2563 เป็น 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 โดยค่ากลาง (median) ของขนาดของดีลปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกระยะ (stage) ในช่วงปี 2563-2564 ตั้งแต่ระยะ Angel and Seed stage (เพิ่มขึ้นจาก 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ระยะ Early stage funding (เพิ่มขึ้นจาก 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และระยะ Late Stage (เพิ่มขึ้นจาก 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 24,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • ในปี 2564 การลงทุนในฟินเทคในทวีปอเมริกาทั้งหมดมียอดรวมอยู่ที่ 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รวมยอดการระดมทุนแบบ VC ที่ 64,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมการระดมทุนแบบ VC ที่ 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดรวมการลงทุนในฟินเทคในยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) มียอดรวมที่ 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมการระทุนแบบ VC 31,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการลงทุนในฟินเทคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2563 เป็น $27,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2564
  • ในปี 2564 บริษัทในเครือขององค์กรขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารกองทุนที่ได้รับจัดสรรจากบริษัทแม่ (Corporate venture capital) มีการลงทุนอย่างกว้างขวางในฟินเทค โดยมียอดรวม 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็น 29,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในทวีปอเมริกา และ 11,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน EMEA