“ดุสิตธานี” ปี 64 ขาดทุนสุทธิ 945 ล้านบาท ดันกำไร EBITDA เพิ่ม 130% ฝ่าด่านโควิด

“ดุสิตธานี” ปี 64 ขาดทุนสุทธิ 945 ล้านบาท ดันกำไร EBITDA เพิ่ม 130% ฝ่าด่านโควิด

“ดุสิตธานี” ปักหลักฝ่าโควิด-19 ดันกำไร EBITDA ปี 64 เพิ่ม 130% เทียบกับปี 63 ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 3,320 ล้านบาท เพิ่ม 3.7% ขาดทุนสุทธิ 945 ล้านบาท ลดลง 6.5% เผยปัจจัยหลักภาพรวมธุรกิจในต่างประเทศดีขึ้น ย้ำกลยุทธ์ปรับพอร์ตสินทรัพย์-กระจายการลงทุน เป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยผลประกอบการประจำปี 2564 ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้รวม  3,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 3,320 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 3.7%  โดยมีผลกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ที่ 515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาทจากปีก่อน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 130.9% ขณะที่ผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 945 ล้านบาท ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 1,011 ล้านบาท

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี  จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม แต่กลุ่มดุสิตธานียังสามารถประคับประคองผลการดำเนินงานได้อย่างน่าพอใจ โดยมีผลกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เพิ่มขึ้น 130.9% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจโรงแรมและรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด 

ขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้น 3.7% จากปีก่อน สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศที่ทำผลงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดในการเดินทางในหลายประเทศ และรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับพอร์ตทรัพย์สินเพื่อรับรู้กำไร (Asset Optimization) ตามแผนที่วางไว้จากการขายและรับบริหารโรงแรม ดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่ การเพิ่มขึ้นของกำไรจากการขายเงินลงทุนและกำไรจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ซึ่งเกิดจากการการปรับกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอาหารและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้จากธุรกิจการศึกษาและธุรกิจอาหารลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากคำสั่งให้ปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว และมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งปี 

สำหรับแนวโน้มข้างหน้า กลุ่มดุสิตธานี มีมุมมองว่า แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เก่า แม้จะเป็นความเสี่ยงของธุรกิจท่องเที่ยว แต่การบริหารจัดการด้านวัคซีนที่ดีขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีแนวโน้มที่จะน่าจะฟื้นตัวและปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์ ที่ประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยราวๆ 5.5 ล้านคนในปี 2565  เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 4 แสนราย และปี 2563 ที่ 6.7 ล้านราย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานของกลุ่มดุสิตธานี ตอกย้ำความมั่นใจที่ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯได้เร่งดำเนินการหลายส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร เตรียมรับมือกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ตอบรับการใช้ชีวิตแบบปกติวิถีใหม่ (next normal)

ไม่ว่าจะเป็นการปรับเกณฑ์ของกลยุทธ์หลักระยะยาว 3 ด้าน ได้แก่ สร้างสมดุลของรายได้ (Balance)  สร้างการเติบโตของธุรกิจ (Expansion)  และเพิ่มความหลากหลายของประเภทธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง (Diversify)  รวมถึงปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ใน 3 มิติ ทั้งการบริหารจัดการทางเงิน (Financial model) การบริหารจัดการธุรกิจ (Business model)  และการปรับโครงสร้างองค์กร  (Operation model)

“เราใช้โอกาสในช่วงเวลาที่ธุรกิจกำลังลำบากที่สุดมาปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาในผลประกอบการในปี 2564 ที่ผ่านมา  และทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า เราวางกลยุทธ์ต่างๆ ได้ถูกทาง และเดินตามแผนที่วางไว้ได้อย่างถูกต้อง สร้างฐานรากได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การเดินทางต่างๆ ทำได้มากขึ้นและเราเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ก็มั่นใจว่า สิ่งที่เราเดินหน้ามาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะสร้างโอกาสเติบโตให้กับกลุ่มดุสิตธานีอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอนนางศุภจีกล่าว