‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้ตลาดปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์สงครามที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นและจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(28ก.พ.)ที่ระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.48 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ32.00-32.90 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ หากตลาดปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์สงครามที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดีมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากเงินบาทยังคงได้แรงหนุนด้านแข็งค่าจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติบางส่วนยังคงรอจังหวะเข้ามาเก็งกำไรธีมเงินบาทแข็งค่าจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่สถาบันการเงินต่างชาติบางส่วนยังมองเป้าเงินบาทปลายปีแข็งค่ากว่า 30.50-31.00 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ สภาพคล่องที่ไม่ค่อยดีและการวางออเดอร์ที่กว้างของทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก จะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนักและแกว่งตัวในกรอบที่กว้างกว่าปกติได้ 

โดยเรามองว่า แนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าก็ต่างรอซื้อเงินดอลลาร์และนักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็อยากขายทำกำไร ณ โซนดังกล่าวส่วนแนวต้านที่สำคัญนั้น เราคาดว่าผู้ส่งออกจะรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงใกล้ช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวจะเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้

ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้ง อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดยังคงถือเงินดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นความสำเร็จของการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจยังได้แรงหนุน หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนัก โดยตลาดปิดรับความเสี่ยงรุนแรงหลังรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน

สำหรับสัปดาห์นี้ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยภาวะสงครามที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นตัวแปรใหม่ต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก จึงควรติดตาม ท่าทีของธนาคารกลางหลักต่อการปรับนโยบายการเงิน หลังเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนขึ้น

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดคาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังการระบาดโอมิครอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) เดือนกุมภาพันธ์ที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58 จุด และ 61 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกินระดับ 50 จุดหมายถึง ภาวะขยายตัว) ส่วนตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 4 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.9% ทั้งนี้ ตลาดจะให้ความสนใจถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อผลกระทบของสงครามที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ รวมถึงการตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟด โดยตลาดจะรอลุ้น การแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งคาดว่าจะมีการพูดถึงผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต

ฝั่งยุโรป – สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีรายงานว่าทั้งสองฝ่ายเตรียมเจรจาเพื่อหาทางออก โดยตลาดการเงินพร้อมปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว หากสงครามมีความรุนแรงขึ้น หรือ ทั่วโลกเดินหน้าใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่อรัสเซีย อนึ่ง การประกาศตัดสถาบันการเงินรัสเซียบางส่วนจากระบบ SWIFT อาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเทขายหุ้นกลุ่มการเงิน โดยเฉพาะ สถาบันการเงินอิตาลีและฝรั่งเศส ที่มีการทำธุรกรรมกับรัสเซียในสัดส่วนที่สูงนอกจากนี้ ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ถึงมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหลังเกิดสงครามขึ้น รวมถึงท่าทีของ ECB ต่อการปรับนโยบายการเงินในอนาคตสำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในยุโรปที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนักจะทำให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคมมีแนวโน้มโตกว่า +1.5% จากเดือนก่อนหน้าทว่าผลกระทบของสงครามอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้คนชะลอตัวลงได้ในไตรมาสแรกของปีนี้

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่าผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในญี่ปุ่นจะกดดันการใช้จ่ายครัวเรือนในเดือนมกราคม โดยยอดค้าปลีกจะหดตัวถึง -1.2% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนในฝั่งของจีน ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนและการใช้มาตรการ Zero COVID โดยเฉพาะภาคการบริการที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์จะลดลงสู่ระดับ 50.7 จุด เช่นเดียวกันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่อาจหดตัวลง สะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะลดลงสู่ระดับ 49.8 จุด ทั้งนี้ แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียและมาเลเซีย ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังมีไม่มากนัก จะช่วยหนุนให้ธนาคารกลางทั้งสองประเทศสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อได้โดยตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% และ 1.75% ตามลำดับ

ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า ยอดการส่งออกในเดือนมกราคมมีแนวโน้มขยายตัวราว +18%y/y ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังการระบาดโอมิครอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้าอาจพุ่งขึ้นกว่า +21%y/y จากราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคมอาจขาดดุลเล็กน้อยนอกจากนี้ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในเดือนกุมภาพันธ์อาจหนุนให้ภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้น โดยดัชนีPMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52 จุด ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 47.8 จุด เช่นกัน อนึ่ง ระดับราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและฐานของค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำของปีก่อนหน้าจากมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.1%