5 วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ 'พอร์ตลงทุน' พิชิตความผันผวน

5 วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ 'พอร์ตลงทุน' พิชิตความผันผวน

เวลาพูดถึงตลาดหุ้นแล้ว เรื่องของ “ความผันผวน” ย่อมต้องมาคู่กัน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีนี้ก็เกิดขึ้นหลายระลอกแล้ว "สร้างความวิตกกังวล" ต่อนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ มือเก่าลงทุนมานาน

เมื่อตลาดผันผวน "นักลงทุน"  ส่วนใหญ่จะมีอารมณ์อ่อนไหวไปกับสภาพตลาดทั้งนั้น  บางครั้งผันผวนเบาๆ แต่บางครั้งก็ผันผวนรุนแรง “จนตกใจ ทำอะไรไม่ถูก”

 ตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นระลอกใหญ่ๆ ก็ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 แม้แต่ต้นปี 2565 นี้ เพียงเดือนแรกก็เกิดความผันผวนระลอกสั้น บางวันหุ้นเขียว บางวันหุ้นแดงเสียอย่างนั้น

หรือเมื่อเฟดมีการส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย ตอนนี้ตลาดคาดการณ์ไปแล้วถึง 9 ครั้งจากเดิม 7 ครั้งในปีนี้ ซึ่งยังต้องติดตามผลการประชุมในวันที่ 16 มี.ค.นี้ และเฟดยังต้องดูดสภาพคล่องในระบบออกไป ทุกครั้งก็ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนป่วนตลอด 

ล่าสุด ซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรงปะทุมากขึ้นเรื่อยๆ  เข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกและในไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นขึ้นลงผันผวนรายวัน 30-50 จุด 

5 วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ \'พอร์ตลงทุน\' พิชิตความผันผวน

อย่ากลัว ความผันผวนเป็นเรื่องธรรมชาติ 

 ในความเป็นจริงแล้ว โลกแห่งการลงทุน การเกิด “ความผันผวน” ในตลาดหุ้น ถือเป็น “เรื่องธรรมชาติ”  ต่อมุมมองดังกล่าว “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะเวลธ์ มาช่วย นักลงทุนหาวิธีการปรับ Mindsset หาวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ "พอร์ตลงทุน"พิชิตความผันผวน 

เนื่องจากตลาดหุ้นมี Dynamic เคลื่อนไหวล้อตามกระแสข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งในประเทศต่างประเทศ และอารมณ์ของผู้เกี่ยวข้องในช่วงเวลาหนึ่งๆ หากคุณต้องการหากำไรหรือผลตอบแทนจากตลาดหุ้น

สิ่งแรกที่ต้องยอมรับ คือ การเห็น "หุ้นตก” เป็นสถานการณ์ที่พบเจอได้เรื่อยๆ แม้ว่าจะทำให้คุณวิตกกังวล หรือตกใจบ้าง ก็เป็นได้ แต่ก็ “อย่าตื่นตระหนกจนชีวิตไม่เป็นสุข” 

เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะมัวแต่วิตกกังวล “ตราวุทธิ์" บอกว่า เราควรมาทำความเข้าใจกับปัญหาต่างๆ ของสภาวะที่เกิดขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือให้พอร์ตเติบโตต่อในระยะข้างหน้าดีกว่า เรียกว่า ‘สร้างภูมิคุ้มกัน’ ให้กับตัวเอง

5 วิธีเสริมภูมิคุ้มกันพอร์ตลงทุน  

เพื่อรับมือความผันผวน ซึ่งจะทำให้จิตใจคุณมั่นคง พอร์ตแข็งแรง มีดังนี้ 

ข้อแรก เมื่อต้องเผชิญความผันผวนสั้นๆ หรือวิกฤตยาวๆ นักลงทุนย่อมเกิดความกลัวและตกใจ การปรับ Mindset แรก คือ  “ตั้งสติและอยู่เฉยๆ”  อย่าเพิ่งตื่นตูมมากจนเกินไป เพราะจะทำให้คุณใช้อารมณ์ในการปรับพอร์ต 

นักลงทุนควรมีความเข้าใจว่า ตลาดหุ้นไม่ได้ขึ้นหรือลงเป็นเส้นตรง แต่มันจะขึ้นๆ ลงๆ ตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและอารมณ์ของนักลงทุนในช่วงเวลานั้น   

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นที่ผันผวน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ปัจจัยพื้นฐาน ที่จะเป็นตัวสะท้อนมูลค่าของหุ้นในตลาด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับข่าวสารที่เกิดขึ้นทั้งด้านภาพใหญ่ (Macro) เศรษฐกิจ การเมืองหรือแม้แต่สังคม และ Micro คือภาคธุรกิจรายกลุ่มและรายบริษัท ทุกประเด็นที่กระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนผู้บริโภค ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มองไม่เห็นภาพชัดเจน ก็อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนลง แต่หากมีภาพชัดเจนในทางบวก ตลาดก็เปลี่ยนทิศเป็นขาขึ้น เพราะนักลงทุนสามารถประเมินมูลค่าของตลาดหรือของหุ้นนั้นๆ ได้
 
2. ปัจจัยด้านอารมณ์ ‘อุปทานหมู่’ ของนักลงทุน  เรียกว่าเป็น Mindset ของตัวนักลงทุนแต่ละคนมองตลาดหุ้นอย่างไร คำว่า Mindset แปลตรงตัวก็คือ ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกนั่นเอง แม้ว่าแต่ละคนมีระดับความเชื่อไม่เหมือนกัน แต่หากเวลาใดที่เกิดสถานการณ์คลุมเครือ นักลงทุนมักตอบสนองความวิตกกังวลด้วยการเทขาย ส่งผลต่อตลาดหุ้นร่วงลงแรง ในทางตรงข้าม หากภาพต่างๆ มีความชัดเจน ก็จะมีแรงซื้อกลับเข้ามา ตลาดหุ้นก็จะฟื้นตัวเด้งขึ้นมา สะท้อนออกมาผ่านราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้เห็นเป็นบวกหรือลบ
 
“ฉะนั้น การตั้งหลักทำความเข้าใจกับเหตุการณ์หรือวิกฤตความผันผวนที่เกิดขึ้น ขยันทำการบ้านติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะทำให้คุณเห็นภาพที่ชัดเจนจากความผันผวนนั้นๆ ได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ปรับตัวต่อไป ก็จะช่วยลดความกังวลลงและทำให้มีจิตใจที่แข็งแกร่งขึ้น”
 
ข้อที่สอง จงจำเอาไว้เสมอว่า การตัดสินใจที่พลาดไป 1 ครั้ง ไม่ได้หมายความว่า จะพลาดในครั้งต่อไป เนื่องจากการเคลื่อนไหวของข่าวสารข้อมูลต่างๆ และความผันผวน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเมื่อช่วงที่นักลงทุนซื้อหุ้นและสามารถทำกำไรได้ ก็มีโอกาสที่จะลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ลงทุนถูกต้อง

 แต่ในบางครั้งก็จะเจอกับช่วงที่ราคาหุ้นตกลงมาเรื่อยๆ ได้เหมือนกัน กลายเป็นทำให้นักลงทุนเกิดความกลัวและไม่กล้าลงทุนในหุ้นนั้นต่อ ถ้าใครที่เจอสถานการณ์แบบนี้ อยากให้ปรับ Mindset ใหม่

โดยแยกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นออกไป เพราะไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เช่น ไม่มีใครคาดได้ว่าจะเกิดโควิด-19 ขึ้น หรือปัญหาสัมปทานต่างๆ ที่วันดีคืนดีถูกยกเลิก หรือ FED ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ เป็นต้น  
 
“ขอย้ำว่า ในการลงทุนแต่ละครั้งจะไม่เกี่ยวข้องกัน หากคุณตัดสินใจผิดครั้งที่แล้ว ไม่ได้แปลว่าคุณจะตัดสินใจผิดในครั้งนี้ด้วย เพราะถ้าสภาพแวดล้อมทุกอย่างบอกว่า ในช่วงเวลานี้มันตรงกับหลักการลงทุนของคุณ คุณก็ควรจะลงทุน และสุดท้ายค่อยกลับไปดูว่ากำไร หรือขาดทุนมันเกิดขึ้นเพราะอะไร”
 
ฉะนั้นก่อนจะลงทุน นักลงทุน “ต้องเตรียมใจรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้”  และค่อยกลับมามองอีกครั้งว่าสิ่งที่ลงทุนไป ยังตรงกับหลักการลงทุนอยู่หรือไม่หากมั่นใจในหลักการการลงทุนของตัวเอง เชื่อว่า จะทำให้จิตใจเข้มแข็งและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับพอร์ตลงทุนของตัวเอง 
 
นอกจากนี้ มีอีกวิธีที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเอาชนะอารมณ์ได้ นั่นคือ การทำ DCA (Dollar Cost Averaging) เหมาะสำหรับหุ้นที่ธุรกิจอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นในระยะยาว แม้บางช่วงเกิดความผันผวนขึ้น แต่จะสามารถเอาชนะอารมณ์ได้ เพราะมีแผนการลงทุนและแค่ทำตามแผนนั้น
 
3. หากนักลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นจากมุมมองระยะสั้น มีโอกาสสูงที่จะตัดสินใจผิดได้ เพราะตลาดหุ้นอาจจะแสดงออกไปตรงกันข้ามกับเหตุและผล แต่ถ้าตัดสินใจจากมุมมองระยะยาว จะพบว่า การขายหุ้นออกไปตอนนี้ ยังดีกว่าสูญเสียเงินอีกมหาศาล
 
“ขอยกตัวอย่างจากที่ผมเคยลงทุนในหุ้นบริษัทหนึ่งที่ราคาตกลงมาประมาณ 50% ซึ่งตอนนั้นผมตัดใจขายไป โดยผมมีข้อมูลที่ชัดเจนด้วย แต่ตอนขายไปแล้วราคาหุ้นกลับเด้งขึ้นมา 10-20% ก็ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามองไปที่ภาพรวมของธุรกิจ ผมก็มองไม่เห็นเหมือนกันว่า หุ้นบริษัทนั้นจะกลับขึ้นมาได้อย่างไรในระยะยาว และหลังจากนั้นหลายปีผ่านไป ผมกลับไปดูหุ้นบริษัทนั้นอีกครั้ง พบว่า ราคาหุ้นตกไปอีก 90% และถูกถอดออกจากตลาดหุ้นไปแล้ว ซึ่งทำให้ผมกลับมารู้สึกดีที่ตัดสินใจตอนนั้นไป” 
 
ในกรณีตัวอย่างนี้ หากผมตัดสินใจจากมุมมองระยะยาว เพราะมีข้อมูลชัดเจน จึงขายในตอนที่ลงมา 50% ไม่เช่นนั้น ถ้าผมถือยาวมาขายออกทีหลัง ต้องสูญเสียเงินอีกมหาศาล เพราะฉะนั้น อย่าใส่ใจกับตลาดระยะสั้นมาก เพราะจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่ในระยะยาว “ราคาหุ้น” จะปรับตัวกลับสู่มูลค่าที่แท้จริงเสมอ
 
ดังนั้น สิ่งที่ควรมองและตอบคำถามตัวเองให้ได้ คือ ‘ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ธุรกิจนั้นจะยังดีอยู่ไหม’ แน่นอนว่าถ้าธุรกิจยังดี ราคาหุ้นจะกลับขึ้นมาได้ แต่ถ้าธุรกิจแย่ สุดท้ายราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลง สิ่งที่ทำให้ตัดใจขายได้ง่ายที่สุด คือ ‘เมื่อขายแล้ว อย่าไปดูมันอีกเลย’
 
ที่สำคัญ จงอยู่กับปัจจุบันและถามตัวเองว่า "หากคุณไม่ได้ถือหุ้นบริษัทนี้ คุณจะซื้อมันในวันนี้หรือไม่" ถ้าข้อมูลทุกอย่างบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า คุณไม่ควรถือหุ้นบริษัทนี้ ก็ถึงเวลาที่คุณจะขายหุ้นออกไป ซึ่งมันจะทำให้คุณเอาชนะกับดักจิตใจของคุณได้ จงพยายามใช้เหตุผลให้มากกว่าจิตใจในการตัดสินใจเรื่องการลงทุน
 
4. วิธีจำกัดความเสี่ยง คือ การลงทุนในสิ่งที่เรารู้จริงเท่านั้น เพราะจะทำให้โอกาสที่จะขาดทุนน้อยลงตามไปด้วย และเป็นการโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้เองอีกด้วย  
 
Warren Buffett ย้ำเสมอว่า จะเลือกลงทุนเยอะในธุรกิจที่เขาเข้าใจเท่านั้น และถ้าหุ้นมีราคาถูกมากกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น เขาก็จะยิ่งลงทุนมากขึ้น เพราะรู้ว่าหุ้นนี้ดีหรือไม่ดี นี่คือสิ่งที่เขาควบคุมได้ โดยไม่ได้สนใจปัจจัยระยะสั้นว่าจะทำให้หุ้นของเขาขึ้นหรือลง ในมุมมองของเขา เชื่อว่า การเลือกหุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม มันจะก้าวข้ามผ่านความผันผวนต่างๆ ในระยะสั้นไปได้ 
 
นักลงทุนที่ดีจึงควรเลือกลงทุนในหุ้นที่เข้าใจ จะช่วยลดความเสี่ยงลงเรื่อยๆ รวมทั้งไม่ต้องซื้อขายบ่อยๆ แต่รอจังหวะที่ใช่ เช่น เวลาที่หุ้นที่เรารู้จักดี มีราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง จึงค่อยเข้าลงทุนก็ได้ 
 
อีกเรื่องคือ กำไรหรือขาดทุนในตลาดหุ้น จะมาจากทั้งทักษะการลงทุนของตัวเราเอง และปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่นักลงทุนควบคุมไม่ได้ จึงต้องแยกให้ออก สิ่งที่นักลงทุนควรพัฒนาคือ ทักษะในการเลือกหุ้น การควบคุมความเสี่ยง และความน่าจะเป็นให้ดี 
 
แม้ผลลัพธ์เป็นเรื่องของตลาดหุ้น แต่สุดท้ายการลงทุนในหุ้นธุรกิจที่ดี ความน่าจะเป็นในการลงทุนคือ  นักลงทุนก็จะมีกำไรมากกว่าขาดทุนอยู่แล้ว และเมื่อขาดทุนก็อย่าคิดอะไรมาก เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการลงทุน โดยเฉพาะถ้าการขาดทุนนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทักษะเราเลย แต่มันเป็นเพราะปัจจัยที่ใครก็ควบคุมไม่ได้
 
5. การจดบันทึกการซื้อขายหุ้น จะช่วยให้นักลงทุนเพิ่มกฎลงทุนด้วย เพราะการจดบันทึกจะทำให้รู้ว่าเราพลาดเพราะอะไร ครั้งต่อไปควรปรับความคิดและทำอีกแบบแทน การจดบันทึกช่วยสะท้อนความคิดของตัวเอง และมีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และอคติต่างๆ ให้ดีขึ้นมาเอง

ยิ่งถ้านักลงทุนจดบันทึกข้อมูลไว้มาก หรือฟังคนอื่นพูดหลักการต่างๆ หรืออ่านหนังสือมา เวลาที่เราต้องเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก จะรู้สึกเหมือนมีคนมากระซิบว่า สถานการณ์แบบนี้ควรจะทำอย่างไร ถ้านึกอะไรไม่ออก ก็ตั้งสติและกลับไปอ่านข้อมูลที่บันทึกไว้ และลองหาดูว่า เราเคยพลาดแบบนี้เพราะอะไร เพราะถ้าลงทุนในตลาดหุ้นมีโอกาสพลาดได้เสมอ เพราะฉะนั้น พยายามดึงตัวเองออกมาอยู่นอกตลาดหุ้นและใช้ความคิดของเราเองให้รอบคอบ 
 
การจดบันทึกการซื้อขายในตลาดหุ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนที่คันไม้คันมืออยากซื้อๆ ขายๆ อยู่ตลอดเวลา ควบคุมตัวเองไม่ได้ แนะนำว่า “คุณจำเป็นต้องทำการจดบันทึกการซื้อขายในตลาดหุ้นไว้ เพื่อที่จะช่วยจัดการความรู้สึกว้าวุ่นใจ ความอยากเทรดบ่อยเกินไปของคุณได้ดีทีเดียว”
 
สุดท้ายนี้  “ตราวุทธิ์” มีข้อคิดในการลงทุนเมื่อต้องรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น คือ  “หากคุณมีความโลภ หุ้นก็จะขึ้น หากคุณมีความกลัว หุ้นก็จะลง”  

สถิติได้บอกว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ตลาดหุ้นจะขึ้นในช่วง 6-7 ปี และลงในช่วง 3-4 ปี เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะกลัวตลาดที่ปรับตัวลงจนมากเกินไป และการเลือกลงทุนในระยะยาว จะพบตลาดหุ้นที่ขึ้นมากกว่าลงอีกด้วย  

หากนักลงทุนรู้และเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ “จะเริ่มมีความกล้าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น” และ “อดทนถือหุ้นจนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวนไปได้ “ และสุดท้าย จะ“มีวิธีเอากำไรกลับคืนมาในช่วงตลาดขาขึ้น”  และหาก “แนวทางการลงทุนของคุณถูกต้อง จะสร้างกำไรได้เอง”
 
“Warren Buffett” กล่าวไว้ว่า คุณจะรู้ว่าใครแก้ผ้าว่ายน้ำก็ต่อเมื่อน้ำลด ตอนหุ้นขึ้น ทุกคนกล้าเป็นเซียนหุ้นหมด แต่ตลาดหุ้นไม่ได้มีแค่ขาขึ้น ยังมีขาลงด้วย ช่วงตลาดขาลงคุณก็ต้องอยู่รอดให้ได้ เมื่อหุ้นขึ้นคุณต้องมีสติ ไม่ประมาท ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ และอย่ามั่นใจมากเกินไป