คลังชี้โควิดระบาดกระทบบริโภคในประเทศหดตัว

คลังชี้โควิดระบาดกระทบบริโภคในประเทศหดตัว

คลังชี้เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.ได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนม.ค.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนดังกล่าว ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และในประเทศ ขณะที่ การบริโภค ภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนม.ค.ขยายตัวจากช่วงเดียวกัน ปีก่อนที่ 17.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -9.3%

ขณะที่ การบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.2% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล -9.9%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 44.8 จากระดับ 46.2 ในเดือนธ.ค.64 เนื่องจาก ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนม.ค.ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 45.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัว 14.3% และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.8% จากเดือนธ.ค.64 ที่ลดลง -4.4%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุน ภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนม.ค.กลับมา ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 17.9% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 18.0%

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.5%

ขณะที่ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 3.9% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.4%

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.1% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ เป็นต้น

ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 88.0 จากระดับ 86.8 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

ด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนม.ค. มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 133,903 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐ

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนมกราคม 2565 จำนวน 15.43 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 127.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ เดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 15.5 – 2%

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้มีปัจจัยกดดันจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค.อยู่ที่ 3.23% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52% ส่วนสัดส่วน หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค.64 อยู่ที่ 59.6% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับ ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนม.ค.65 อยู่ในระดับสูง ที่ 242.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์