แผนปั้น“อู่ตะเภา” สนามบินระดับโลก เปิดโซนเศรษฐกิจพิเศษดึง 5 ธุรกิจลงทุน

แผนปั้น“อู่ตะเภา” สนามบินระดับโลก  เปิดโซนเศรษฐกิจพิเศษดึง 5 ธุรกิจลงทุน

ที่ประชุม กบอ.เห็นชอบ จัดสิทธิประโยชน์ 10 ปี แรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก หนุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เทียบชั้นสนามบินระดับโลก ดึง 5 ธุรกิจ ลงทุนในพื้นที่สนามบิน พร้อมอนุมัติอีอีซีตั้งบริษัทลูกบริหารพื้นที่ 417 ไร่ในสนามบินอู่ตะเภา

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3" โดยเชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการนี้ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation" รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก" ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย เชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อ
ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

เพื่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสนามบิน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติ การจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปี แรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่าสนามบินชั้นนำใน สิงคโปร์ดูไบ และฮ่องกง

ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมงเป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี รวมทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออก VISA และใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 หรือวีซ่าระยะยาว (LTR) สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก โดยสำนักงานอีอีซีจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ให้

ทั้งนี้การจัดสิทธิประโยชน์ที่มีความชัดเจน จะทำให้การพัฒนาพื้นที่ Special Economic Zone ในระยะที่ 1 ในพื้นที่ 1,400 ไร่ สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 5 ธุรกิจที่มีการกำหนดไว้ ได้แก่

1.โรงแรม ที่พักอาศัย ที่ประชุม ที่ทำงาน ที่จะเปิดรองรับให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

2.ห้างสรรพสินค้า และ Duty Free ที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง

3.พื้นที่กิจกรรมสันทนาการแบบเบา เช่น ร้านอาหารที่มีบริการขายเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งจะมีร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ที่จะมาเปิดให้บริการ

4.ศูนย์แสดงศิลปกรรม พิพิธภัณฑ์ การแสดงงานศิลปะ และการซื้อขายงานศิลปะ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

และ 5.อาคารที่อยู่อาศัย คอนโด สำหรับนักธุรกิจ นักลงทุน พนักงานที่เข้ามาลงทุนหรือทำงานในพื้นที่

นอกจากนี้ กบอ.ได้จัดตั้ง บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด ที่มีสำนักงานอีอีซีถือหุ้น 100% โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีความคล่องตัวสามารถที่จะดึงการลงทุนของเอกชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) การฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน

โดยในส่วนนี้จะเป็นการบริหารในพื้นที่ ATZ ในสนามบินอู่ตะเภาที่มีพื้นที่ประมาณ 474 ไร่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่เป็นโครงการที่อยู่ในสัมปทานของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA)ที่ได้สิทธิในการพัฒนาและบริหารสนามบิน และเมืองการบินภาคตะวันออก อย่างไรก็ตามบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จะทำงานร่วมกับ UTA และหน่วยงานอื่นๆเพื่อให้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามีความสมบูรณ์ และช่วยให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินได้สำเร็จในอนาคต

“บริษัทนี้อีอีซีถือหุ้นเอง100% ในระยะแรกจะใช้คน และงบประมาณจากอีอีซี ระยะต่อไปสามารถที่จะจ้างบุคลากรเฉพาะทาง รวมทั้งเจรจากับเอกชนได้ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ย้ำถึงเรื่องการบริหารงานให้อีอีซีบริหารงานอย่างเป็นอิสระอย่าให้มีการแทรกแซงจากภายนอก” นายคณิศ กล่าว