ธปท.จ่อปรับเงินเฟ้อ ปี 65 เกิน 2% ยังมั่นใจทั้งปีไม่เกิน 3%

ธปท.จ่อปรับเงินเฟ้อ ปี 65 เกิน 2% ยังมั่นใจทั้งปีไม่เกิน 3%

ธปท.ชี้อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ชี้อาจสูงกว่าเป้าที่ 3.4% ขณะที่เงินเฟ้อ เชื่อเป้าเดิมที่ 1.7% เอาไม่อยู่ คาดอยู่ที่เกิน 2% แต่ทั้งปีคาดไม่เกินกรอบที่ 3%

 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าว ในงานอสังหาริมทรัพย์ไทย ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2522 ในหัวข้อ แนวโน้มและภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน จะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ

ในปี 2565 อย่างไรว่า สำหรับเศรษฐกิจที่ผ่านมา ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ซึ่งต่ำสุดรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 เหมือนตกหลุม 6 ชั้น ขณะที่ล่าสุด สภาพัฒน์มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจปี 2564 โดยเติบโต 1.6% ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ แต่ก็ยังห่าง 3-4 ชั้นกว่าจะขึ้นมาสู่ขอบหลุมได้

  

ทั้งนี้ หากดูเศรษฐกิจไทยที่ติดลบ 6.1% เมื่อปี 2564 พบว่าภาครัฐมีส่วนช่วยสำหรับ จากการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพราะหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจีดีพีจะติดลบถึง 12% เช่นเดียวกับปี 2564 ที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไทยอาจติดลบ 5% ดังนั้นภาครัฐถือเป็นกลไกสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย 

แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนก่อนโควิด-19 ได้ อาจต้องใช้เวลา 3 ปี ซึ่งนานกว่าประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 12% ของจีดีพี 

        หากดูการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรม พบว่า หลายอุตสาหกรรมฟื้นได้ดีกว่าก่อนเกิดโควิดโดยเฉพาะส่งออก ที่ขยายตัว 125% ดีกว่าก่อนโควิดถึง 25% แต่หากดูการท่องเที่ยวไทยพบว่าอยู่เพียง 6% ซึ่งแตกต่างกันมาก  

        ดังนั้น ภายใต้ทีมเศรษฐกิจไทยโต 1.6% หลักๆ มาจากส่งออก ดังนั้น ธปท.เรามองว่า การเติบโตนี้ยังโตแบบเปราะบาง และมีความแตกต่างกันมาก หรือเรียกว่า เคเชฟ 
 “จุดหนึ่งที่ค่อนข้างดี และสะท้อนว่าเราได้ผ่านจะต่ำสุดของการระบาดไปแล้ว จากไตรมาส 3 ปีก่อนคือ การท่องเที่ยว และการบริโภคฟื้นตัวเป็นลำดับ และแม้โอมิครอนจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่การป่วย การตายต่ำกว่าเดลต้า อัตราการป่วยหนักอยู่เพียง 0.1% จากเดลต้าที่ 0.3% ดังนั้นระบบสาธารณสุข ที่มองว่าจะสามารถรับผู้ป่วยหนักได้ถึง 5 พันคน ก็สามารถรองรับได้ หากเทียบกับเดลต้าที่เกิน 5 พันคน” 
       

อย่างไรก็ตาม แม้มองว่าโอมิครอน จะมีการระบาดค่อนข้างน้อย แต่มีความเสี่ยง ทั้งนี้มองว่าครึ่งปีแรกโอมิครอนจะคลี่คลายได้ แปลว่านักท่องเที่ยวที่ ธปท.คาดการณ์ 6 ล้านคน ก็อาจไม่ได้กระทบ เพราะเดิมมองว่า 90% นักท่องเที่ยวจะมาในครึ่งปีหลังอยู่แล้ว แต่หากโอมิครอนรุนแรงกว่าคาด ตัวเลขเหล่านี้ก็อาจสะดุดได้ ดังนั้นโควิด จึงเป็นปัจจัยที่ธปท.จับตาใกล้ชิด 
     

ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวไม่แน่นอน และแตกต่างกันมากแต่ละสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยว ที่มีการจ้างงานสูงถึง 50% โดยการคาดการณ์เศรษฐกิจเดิมของ ธปท. เดิมมองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว อยู่ที่ 3.4% แต่ล่าสุด จากสถานการณ์ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงกว่า 3.4% แต่ก็ต้องมาดูตัวเลขที่จะออกมามี.ค.อีกครั้ง

ซึ่งหากเศรษฐกิจเติบโตลักษณะนี้ มองว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวเท่าก่อนโควิดได้ราวต้นปี 2566 หรืออย่างเร็วปลายปี 2565 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม และมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีทั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และภาวการณ์เงินที่ตึงตัว จากการดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศ  ด้านแรกคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มองว่าปี 2566 หลายอุตสาหกรรมจะไม่กลับมาเหมือนก่อนโควิด แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หรือโรงแรม หลายธุรกิจจะมีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่งกระทบต่อรายได้ และการจ้างงาน จากปัจจุบัน ที่แรงงานมีการเคลื่อนย้ายไปตอนโควิด ที่ยังไม่สามารถกลับมาได้ในภาคอุตสาหกรรมถึงกว่า 1 ล้านคน ส่งผลให้รายได้ตรงนี้หายไป 

จากวิกฤติโควิด ที่ผ่านด้านภาคการเงินทำอะไรไปบ้าง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยที่ 0.50% ถือว่าต่ำประวัติการณ์ และต่ำค่อนข้างมาก เพราะสิ่งที่ภาคการเงินพยายามทำคือ ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทำให้มีมาตรการทางการเงินออกมาต่อเนื่อง

รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้สินเชื่อปีที่ผ่านมา เติบโต 6.5% ขณะที่หนี้เสียอยู่เพียงระดับ 3%  ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา เติบโตได้ดี โดยขยายตัว 6.5% ปีก่อน และสินเชื่อขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส สะท้อนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวลงสู่รายย่อยมากขึ้น

ดังนั้นหากความมั่นใจของประชาชนกลับมาเชื่อว่า รายได้และการจ้างงานจะดีขึ้นต่อเนื่องในระยะถัดไป ส่วนการผ่อนคลายแอลทีวี ยังไม่เห็นผลชัดเจน เนื่องจากรายได้ประชาชนยังไม่กลับมา แต่ปีนี้อาจเห็นสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นตัว 
     

สำหรับความผันผวนที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความผันผวนในตลาดการเงิน ปลายปีก่อน ตลาดคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง แต่ปัจจุบันตลาดคาดการณ์เป็น 7 ครั้ง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ 2% ขณะที่ของไทยขึ้นมาที่ 2.2%  
     

แต่ที่เกี่ยวกับภาคการเงินไทยคือ ยีลด์ระยะสั้น ปัจจุบันอยู่เพียง 0.7% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ทั้งนี้เชื่อว่าประเทศไทย มีปัจจัยที่ช่วยลดทอนความผันผวน จากข้างนอกได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติเข้าไทยน้อย หากดูการถือตราสารหนี้ไม่ถึง 10%

ดังนั้นเราอาจไม่กลัวเงินไหลออก เพราะมีสำรองสูงถึง 12% สูงกว่าหากเทียบกับหนี้ระยะสั้นถึง 3 เท่า อีกทั้ง 90% ของการลงทุน ส่วนใหญ่ ประชาชนลงทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากจากในประเทศถึง 70%  

ดังนั้นไม่ค่อยกระทบจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยต่างประเทศ แต่แน่นอน หากเกิดอะไรขึ้น ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแลความผันผวน เพราะให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไปต่ออย่างไม่สะดุด 
       

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ปีนี้เงินเฟ้อที่ 1.7% ตามคาดเดิม ธปท. อาจเอาไม่อยู่แน่นอน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก จากราคาน้ำมัน ที่ปรับเพิ่มขึ้น 20% หมูก็แพงขึ้น ดังนั้นปีนี้ ธปท.มองว่า เงินเฟ้ออาจขึ้นไปเกิน 2% และอาจมีความเสี่ยงที่ครึ่งปีแรกของปี เงินเฟ้อจะเกินกรอบเป้าหมายที่ 3% แต่ทั้งปีเฉลี่ยไม่น่าเกิน 3% เพราะบางช่วงเงินเฟ้อขึ้นไปเร็ว จากสมมติฐานว่าราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทยอยลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ 

ส่วนเงินเฟ้อที่ออกมา ม.ค. 3.2% เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน 2% หรือ 70-80% รองลงมาจากเนื้อหมู ซึ่งสิ่งที่ ธปท.ดูคือ การกระจายตัว ของราคาที่เพิ่มขึ้น แต่วันนี้ความเสี่ยงมีอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์