KBANK ชงธปท. ปั้น ‘แซนด์บ็อกซ์’เอื้อนำดิจิทัลแอสเสทใช้ประโยชน์

KBANK ชงธปท. ปั้น ‘แซนด์บ็อกซ์’เอื้อนำดิจิทัลแอสเสทใช้ประโยชน์

“ธนาคารกสิกรไทย” ชง ธปท.สร้างแซนด์บ็อกซ์ ศึกษาดิจิทัลแอสเสท เอื้อแบงก์- ผู้ประกอบการเข้าไปทดสอบ หวังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าและสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ

     นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนาธปท. BOT Financial Landscape Consultation Session : เปิดมุมมองภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เกี่ยวกับดิจิทัลแอสเสทว่า ในปัจจุบันดิจิทัลแอสเสท มีหลายประเภทด้วยกัน

      ซึ่งทุกตัวจะมีประโยชน์ที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าจะนำแต่ละประเภทไปใช้ประโยชน์อย่างไร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับลูกค้า หรือเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไร

       ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยในฐานะที่เป็นภาคธุรกิจธนาคารที่สนใจสิ่งเหล่านี้ ทั้ง ICO Portal  โทเคนดิจิทัลต่างๆ ดิจิทัลแอสเสท สิ่งที่อยากเห็นคือ การสร้าง “แซนด์บ็อกซ์” Regulatory Sandbox

      เพื่อให้สามารถเข้าไปทดสอบ ศึกษาเรื่องดิจิทัลแอสเสท ภายใต้การไม่ทำลายเสถียรภาพการเงินของประเทศ  ซึ่งไม่เฉพาะแบงก์ ที่สนใจด้านนี้ แต่มีภาคธุรกิจอื่นๆที่สนใจด้านนี้เช่นเดียวกัน

       ดังนั้นควรมีแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดลอง ศึกษา นวัตกรรมเหล่านี้ ว่าจะมีกลไกอย่างไร สามารถเพิ่มมูลค่าและเป็นประโยชน์ได้จริงหรือไม่ เหมือนที่ธปท. เปิด แซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบนวัตกรรมการเงินใหม่ๆก่อนออกใช้

      เหล่านี้ก็เพื่อศึกษาสิ่งที่ไม่เข้าใจ สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นการศึกษาดิจิทัลแอสเสท ควรจะมีแซนด์บ็อกซ์อย่างยิ่ง

      “ขณะเดียวกัน ตัวที่มีความเสี่ยง ก็ต้องไปทำความเข้าใจ ให้คนที่ลงทุนไปเข้าใจ เพื่อให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ และคนที่มีน้ำหนักมาก คือทางการที่จะสกรีนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าธปท.ดูหลายโจทย์มาก ทั้งในมุมเสถียรภาพการเงิน และความหมายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก”

       นายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SEA Group กล่าวว่า  ส่วนตัวเห็นด้วย ว่าควรมีแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน ร่วมกับผู้กำกับนโยบาย เพื่อให้เท่าทันโลกที่จะเปลี่ยนไปมหาศาล ที่จำเป็นต้องศึกษา เพื่อเห็นความเสี่ยง และด้านต่างๆ ซึ่งเชื่อว่า ท้ายที่จะก็อาจหาโซลูชันร่วมกันได้

       ปัจจุบันดิจิทัลแอสเสท หลักๆมี 2ประเภท อันแรกคือ ดิจิทัลแอสเสท ที่เกี่ยวกับการลงทุน คล้ายตราสารหนี้ หรือลงทุนในศิลปะ อีกกลุ่มคือ ที่ธปท.เป็นห่วง คือการใช้ดิจิทัลแอสเสท แทนเงินบาทได้ แต่มีดิจิทัลแอสเสทบางประเภทที่ไม่เหมือนเงินตรา แต่เป็นคูปอง ซึ่งใช้เฉพาะแห่งไม่ได้ออกมาใช้เป็นวงกว้าง ดังนั้นพวกนี้ไม่น่าเสี่ยง

       สำหรับเรื่องดิจิทัลแอสเสท และอินฟราสตรักเจอร์ เป็นเรื่องที่หลายธนาคารกลางหลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะมองว่าบล็อกเชนจะเข้ามาต่อยอดในการไปสู่ เวฟ 3.0 ที่มาแน่นอน ที่สามารถเข้ามาช่วยลดคนกลาง

       “การหายูสเคส เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรฆ่า หรือตัดเรื่องนี้ออกไป เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญในอนาคต เช่นเดียวกับ การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สิ่งที่ต่างประเทศมีการศึกษา เช่นในสิงคโปร์ คือการผลักดันด้านนี้ต้องตอบโจทย์ ด้านการชำระเงินที่รวดเร็ว ต้นทุนถูก ซึ่งหาก CBDC สามารถตอบโจทย์ด้านนี้ได้ก็น่าสนใจ ขณะเดียวกัน มองว่าการพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ ควรเปิดให้คนวงกว้างที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามามีส่วนรวมในการออกแบบด้วย เพื่อพัฒนาให้อินฟราสตรักเจอร์ที่มีประโยชน์ในระยะข้างหน้า”