ร้านหมูทอดเจ๊จง จัดให้! นำร่องประกาศลดราคาอาหาร รับราคาเนื้อหมูอ่อนตัว

ร้านหมูทอดเจ๊จง จัดให้! นำร่องประกาศลดราคาอาหาร รับราคาเนื้อหมูอ่อนตัว

ผู้บริโภคสายหมูทอดต้องเฮ! ร้านหมูทอดเจ๊จง ประกาศปรับราคาเมนูอาหารลง เช่น หมูทอดหั่นลง 10 บาท จาก 300 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 290 บาท ขานรับราคาเนื้อหมูอ่อนตัวลง จากก่อนหน้านี้ราคาหมูแพง จนแบกต้นทุนไม่ไหว ขอขยับราคาขึ้น แต่เพียงเดือนเศษ ก็กลับสู่การขายราคาเดิม

เรียกว่าได้ใจผู้บริโภคไปเต็มๆ สำหรับ “ร้านหมูทอดเจ๊จง” เพราะวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เพจเฟซบุ๊ก “ร้านหมูทอดเจ๊จง” ประกาศปรับราคาเมนูอาหารลงหลายรายการ ให้สอดคล้องสถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่เริ่มค่อยๆลดราคา

สำหรับราคาเมนูอาหารใหม่ ที่ปรับลงนั้น เช่น หมูทอด 290 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จากเดิมวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ขอขึ้นราคาไปอยู่ที่ 300 บาทต่อกก. ตับผัดกระเทียมอยู่ที่ 270 บาทต่อกก. จากเดิม 280 บาทต่อกก. ข้าวหมูทอด 37 บาทต่อกล่องเวฟ จากเดิม 39 บาทต่อกล่องเวฟ เป็นต้น

แน่นอนว่าทันทีที่ประกาศให้ลูกค้าทราบถึงนโยบาย “ปรับลดราคาลง” ย่อมได้ใจกลุ่มเป้าหมาย และฐานแฟนอย่างมาก และชื่นชมถึงการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบของผู้บริโภค ซึ่งบางรายได้แสดงความคิดเห็น ฝากถึงผู้ประกอบการหรือธุรกิจอื่นๆ ควรทบทวนเวลาที่ต้นทุนสินค้าปรับขึ้น แล้วต้อง “ขยับราคาขายเพิ่ม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าใจ ไม่คิดต่อว่าต่อขาย แต่สิ่งที่เป็นคำถาม ข้อกังขาคือ เมื่อ “ต้นทุนปรับลง” ทำไมจึงไม่ลดราคาขายบ้าง

ร้านหมูทอดเจ๊จง จัดให้! นำร่องประกาศลดราคาอาหาร รับราคาเนื้อหมูอ่อนตัว

ราคาอาหารร้านหมูทอดเจ๊จง ก่อน-หลังสถานการณ์หมูราคาแพง

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธุรกิจ เคยสอบถามผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร กรณีที่ต้องรับมือต้นทุนสินค้าพุ่ง โดยเฉพาะที่ผ่านมา "ราคาหมูแพง" มาก จนแบกภาระไม่ไหว บริษัทห้างร้านต่างๆจะต้องปรับเมนูใหม่ พร้อมกับขึ้นราคาสินค้า แต่การจะปรับลงนั้น ต้องกลับไปทำเมนูใหม่อีกครั้ง ซึ่งไม่นิยมทำนัก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้คือจะจัด “โปรโมชั่น” ลดราคาสินค้าแทน เพื่อเป็นการคืนความคุ้มค่าให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับการลดราคาสินค้าอาหารของ “ร้านหมูทอดเจ๊จง” ดูเหมือนจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบการในการค้าขาย แต่มิติด้านธุรกิจ เป็นที่ทราบดีว่า สินค้าที่ปรับขึ้นราคาแล้ว น้อยมากที่จะยอม “หั่นราคา” ลงมาอีกครั้ง ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ระบาดมาราธอนเช่นนี้ ร้านค้าจำนวนมากเผชิญความเดือดร้อน ยอดขายหาย กำไรหด

ขณะที่สถานการณ์ "กำลังซื้อผู้บริโภค" เรียกว่าไม่สู้ดีนัก เพราะไม่เพียงอาหารที่แพง แต่ภาวะ "เงินเฟ้อ" ราคาน้ำมันแพงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นทยอยขึ้นราคาล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งหลากปัจจัยทำให้กระทบค่าครองชีพสูงขึ้น กระเทือนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนรอบด้าน

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้นาทีนี้ คือการ “จับตา” ผู้ประกอบการรายใหญ่จะใจป๋า กล้าหั่นราคา เหมือนที่ “รายเล็ก” ที่ใจใหญ่ทำหรือไม่ ติดตาม!!