จับตาสินค้าหน้าร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้า ท่องเที่ยว ขยับใช้งบโฆษณา

จับตาสินค้าหน้าร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้า ท่องเที่ยว ขยับใช้งบโฆษณา

งบโฆษณาออกตัว “ติดลบ” ตั้งแต่มกราคม แต่สถานการณ์เปลี่ยน เพราะประเภท “สื่อ” เห็นการฟื้นตัว รวมถึงหมวดหมู่อุตสาหกรรมที่กลับมาใช้จ่ายตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาคท่องเที่ยว และรัฐบาล ใช้งบโฆษณาเป็น “บวก” หลังติดหล่มอยู่ในแดนลบจากโควิด-19 เป็นเวลานาน

นีลเส็น เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงมกราคมปี 2565 อุตสาหกรรมยังอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเม็ดเงินสะพัดมูลค่า 8,349 ล้านบาท “หดตัว” 1.30% จากปีก่อนเงินสะพัด 8,459 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเภทสื่อที่กลับมาเติบโตได้แก่ สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์มูลค่า 605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 82.23% จากทั้งปี 2564 อยู่ในภาวะติดลบ 10% รวมถึงสื่อวิทยุมูลค่า 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.70% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการเติบโตอีกครั้ง หลังติดลบเล็กน้อย 3%

ส่วนสื่อประเภทอื่นอยู่ใน “แดนลบ” ยกแผง โดยทีวีมูลค้า 4,533 ล้านบาท ลดลง 6.28% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 762 ล้านบาท ลดลง 4.39% สื่อสิ่งพิมพ์ 218 ล้านบาท ลดลง 18.96% ซึ่งลดสูงสุด และสื่อในห้าง 52 ล้านบาท ลดลง 1.89% ขณะที่สื่อดิจิทัลยังไม่มีรายงานตัวเลขจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย)หรือ DAAT

 

สำหรับอุตสาหกรรมที่กลับมาใช้จ่ายมีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2564 หลังจากหมวดเครื่องดื่มเทงบกันสะพัดเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า ขณะที่ประเดิมเดือนมกราคมปีนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าใข้งบโฆษณา 125 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% ท่องเที่ยว 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ภาครัฐ 234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81% เป็นต้น จากเดิมกลุ่มเหล่านี้ “ชะลอ” ใช้งบโฆษณาค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม หมวดเครื่องดื่มและอาหารยังใช้งบโฆษณามากสุด 1,297 ล้านบาท หดตัว 10% เครื่องใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง 1,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% การตลาดแบบตรงจากสื่อต่างๆ 1,035 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยครองแชมป์ใช้เงินมากสุด ยังชะลอตัว เงินสะพัดเพียง 490 ล้านบาท ลดลง 6% และกลุ่มโทรคมนาคมมูลค่า 316 ล้านบาทลดลง 21% เป็นต้น

 

นอกจากนี้ 3 บริษัทแรกที่ใช้เงินมากสุดยังเป็นหมวดเดิมๆ แต่ออกตัว “ติดลบ” สะท้อนให้เห็นการ “ชะลอใช้เงิน” อยู่ โดยเนสท์เล่ออกตัวทุ่มลุยแคมเปญสื่อสารการตลาดมาเป็นอันดับแรก ด้วยมูลค่า 275 ล้านบาท ลดลง 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดคือผลิตภัณฑ์ โฆษณาทางทีวีมูลค่า 31 ล้านบาท รองลงมาคือ โมโน ช้อปปิ้ง ใช้งบมูลค่า 195 ล้านบาท ลดลง 1% โดยสินค้าเตาแก๊สเดนป้า ใช้เงินมากสุดทางสื่อทีวีมูลค่า 31 ล้านบาท และพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล(พีแอนด์จี)ใช้งบมูลค่า 194 ล้านบาท ลดลง 13% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดคือผลิตภัณฑ์ออรัลบีโฆษณาทางสื่อทีวีมูลค่า 24 ล้านบาท

ส่วนบริษัทอื่น เช่น ยูนิลีเวอร์ ใช้จ่ายงบโฆษณา 155 ล้านบาท แมสมาร์เก็ตติ้ง(โอเค เฮอร์เบิล ยาสีฟันเทพไทย)ใช้จ่าย 144 ล้านบาท โตโยต้า 123 ล้านบาท อีซูซุ 117 ล้านบาท โอช้อปปิ้ง 116 ล้านบาท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์(เดทตอล แวนิช สเตร็ปซิล) 106 ล้านบาท และคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ 102 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาดูคือตลาดสินค้าหน้าร้อน จะเห็นหมวดเครื่องดื่มกลับมาใช้จ่ายงบโฆษณากลับเข้าสู่ “แดนบวก” เพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงไฮซีซั่นหรือไม่