แผนกองทุนน้ำมัน ”กู้แบงก์” ดีเลย์ ได้เงินก้อนแรก 2 หมื่นล้าน เม.ย.นี้

แผนกองทุนน้ำมัน ”กู้แบงก์” ดีเลย์ ได้เงินก้อนแรก 2 หมื่นล้าน เม.ย.นี้

ครม.ลดภาษีดีเซล 3 บาท 3 เดือน สูญรายได้ 1.7 หมื่นล้าน “สภาพัฒน์” ห่วงผลกระทบการคลัง ครม.ผ่านแผนรองรับวิกฤติน้ำมันฉบับปรับปรุง ขยับเพดานกองทุนขาดทุนได้เกิน 4 หมื่นล้าน  “พลังงาน” จับตากบง.เคาะราคาดีเซลใหม่ เผยแผนกองทุนกู้เงินดีเลย์ชี้ได้ 2 หมื่นล้าน เม.ย.นี้

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 ก.พ.) ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 100% ลงลิตรละ 3 บาท เหลือ 2.99 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จากปัจจุบันมีอัตราที่ลิตรละ 5.99 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ต้นทุนสำคัญของสินค้าและบริการในประเทศ ซึ่งจากนี้กรมสรรพสามิตจะร่างประกาศเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้

สำหรับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซล เดือนละ 5,700 ล้านบาท รวม 3 เดือน จะสูญเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท

ส่วนอัตราการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 3 บาทต่อลิตรดังกล่าว เป็นการลดให้สำหรับน้ำมันดีเซล 100% แต่กรณีน้ำมันไบโอดีเซล จะลดน้อยลงตามสัดส่วนเกรดน้ำมันดีเซล

ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ แต่ปัจจุบันมีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งแม้ ครม.อนุมัติให้กองทุนกู้เงินได้ในเพดานไม่เกิน 30,000 ล้านบาท แต่กองทุนยังกู้เงินเพื่อนำมาใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ได้ เพราะงบการเงินกองทุนยังไม่ได้รับการรับรอง โดยสาเหตุมาจากช่วงเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลสังกัดกระทรวงพลังงานเป็นองค์การมหาชน แต่คาดว่าภายในเดือนมี.ค.นี้ จะเริ่มกู้ได้

ส่วนรายได้ของรัฐบาลนั้น นายอาคม กล่าวว่า การลดภาษีน้ำมันจะทำให้รายได้ของรัฐหายไปส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจคลี่คลายจะทำให้การจัดรายได้ของรัฐบาลสูงขึ้น

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครังนี้ ไม่มีแรงกดดันทางการเมือง แต่เป็นเพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ของโลก รัฐบาลจึงมีความเป็นห่วงค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า

รับมือราคาน้ำมันขาขึ้น

นายดนุชา พิชยานันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นขณะนี้เพราะปัจจัยจากภายนอกที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็ว โดยผลกระทบเกิดขึ้นกับไทยเพราะนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าจึงมีผลกระทบต่อราคานำเข้าน้ำมัน

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นสิ่งที่แทบทุกประเทศเผชิญ โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รายงาน ครม.ด้วยว่าเมื่อเทียบแล้วราคาน้ำมันไทยไม่ได้แพงกว่าทุกประเทศ แต่ราคาอยู่อันดับ 6 ของอาเซียน โดยมีเพียงประเทศที่มีแหล่งน้ำมันจำนวนมากในประเทศที่ถูกกว่า เช่น บรูไน มาเลเซีย

“รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่ากระทรวงพลังงานทำเต็มที่ในการตรึงราคาดีเซล โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแต่กองทุนอยู่ช่วงแก้กฎหมายเป็นองค์การมหาชนทำให้มีข้อจำกัดในการกู้เงิน ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมาช่วยโดยลดภาษีสรรพสามิตชั่วคราว”

สศช.ห่วงภาระการคลัง

ทั้งนี้ การลดภาษีสรรพสามิตต้องดูผลกระทบระยะต่อไป เพราะรายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นรายได้สำคัญที่ภาครัฐจัดเก็บมาใช้จัดสรรเป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายสวัสดิการต่างๆ หากลดต่อเนื่องในระยะเวลานานจะกระทบกับรายได้ในส่วนนี้

นายดนุชา ตอบคำถามประเด็นการนำเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาอุดหนุนราคาน้ำมันว่า ทำไม่ได้เพราะผิดจุดประสงค์กู้เงินที่ใช้แก้โควิด-19 เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเหลือ 97,000 ล้านบาท ส่วนแหล่งเงินจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอาจใช้ได้ แต่ถ้าต้องใช้เดือนละ 30,000-40,000 ล้านบาท มีปัญหาที่งบกลางมีจำกัดและต้องใช้ด้านอื่น

“พลังงาน”เล็งเคาะราคาดีเซล

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะเร่งประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) โดยเร็วเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือประชาชนหลัง ครม.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร เพื่อหาแนวทางบริหารราคาให้มีความเหมาะสมและช่วยประชาชนในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท ถึงวันที่ 31 พ.ค.2565 เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการลดภาษีจะมีส่วนหนึ่งที่จะนำมาลดภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนทันที และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท ได้ต่อเนื่องนานขึ้น ซึ่งแต่ละส่วนนั้น กบน.จะพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากมีมติ ครม.อาจเกิดส่วนต่างราคาน้ำมันในช่วงก่อนวันที่จะมีการปรับลดจริงจึงให้กรมธุรกิจพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้ามาตรา 7 บริหารจัดการให้มีปริมาณน้ำมันเพียงพอกับการให้บริการกับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน

แผนกู้เงินกองทุนน้ำมันดีเลย์

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ดำเนินการขอกู้เงินเพื่อพยุงสถานะของกองทุนน้ำมันฯ โดย ณ วันที่ 13 ก.พ.2565 ติดลบ 18,151 ล้านบาท ขณะที่กระแสเงินสดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สกนช.ดำเนินการกู้ตามขั้นตอนและมีธนาคารยื่นข้อเสนอมาแล้ว แต่อยู่ขั้นตอนเจรจาและตรวจสอบสัญญา ซึ่งยืนยันว่าทำด้วยความโปรงใสและไม่น่ามีปัญหา โดยคาดว่าจะนำเงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท มาเติมเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในเดือน เม.ย.2565

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงฯ จะเสนอที่ประชุม กบน. เพื่อติดตามความคืบหน้าการกู้เงิน รวมถึงมติ ครม.ที่อนุมัติลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อเตรียมมาตรการดูแลด้านพลังงาน โดยเฉพาะการพยุงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนที่ 318 บาทต่อถัง น้ำหนัก 15 กิโลกรัม มา 2 ปี ออกไปถึงวันที่ 31 มี.ค.2565

“เงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ เมื่อเงินกู้เข้าระบบก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเงินมาช่วยประชาชนผู้ใช้ก๊าซครัวเรือนอีกต่อไป ที่ผ่านมาใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนก๊าซหุงต้มไป 25,761 ล้านบาท ดังนั้น จะต้องหามารตการอื่นมาช่วยคลายความเดือนร้อนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง” นายกุลิศ กล่าว

ขยับเพดานกองทุนน้ำมันติดลบ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่1) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ.2564

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ตามที่ครม.อนุมัติร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่1) เพื่อสอดรับกับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากเดิมคือ 20,000 ล้านบาท ถือเป็นการขยายเพดานจากกรอบวงเงินกู้เดิมที่ ครม.ขยายกรอบวงเงินเป็น 40,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกัน

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเงิน 20,000 ล้านบาทไม่เพียงพอแล้ว ซึ่งในตอนแรกตั้งใจขยายกรอบเงินกู้ไว้ที่ 30,000 ล้านบาท แต่เมื่อกระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันขณะนี้ จาก 30,000 ก็คงไม่พอจึงน่าจะขยับกรอบเป็นเต็มจำนวนที่ 40,000 ล้านบาท

ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันเพลิง ณ วันที่ 13 ก.พ.2565 ติดลบอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท

หยุดต้นทุนการผลิต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดภาษีสรระสามิตดีเซล 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จะช่วยหยุดต้นทุนด้านพลังงานที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง เพราะต้นทุนขยับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการคาดการณ์ภาระต้นทุนการผลิตได้อีก 3 เดือน เพราะวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานจะไม่สามารถเป็นเงื่อนไขที่จะนำมาปรับราคาขึ้นได้อีก ที่ผ่านมาทั้งค่าขนส่ง ก็มีการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนแพจกิ้ง ที่นำมาบรรจุสินค้า หรือเหล็กที่นำมาผลิตกระป๋องก็ได้ปรับราคาขึ้นต่อเนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเช่นกัน เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการลดภาษีดีเซล ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่จะต้องปรับราคาขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการก็แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าเพราะตลาดก็ไม่เอื้ออำนวย กำลังซื้อไม่มี บางรายก็ปรับตัวโดยการลดขนาดสินค้าลงแต่ราคาเท่าเดิม เพื่อประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้ หรือผู้ประกอบการบางรายที่ไม่สามารถเดินหน้าผลิตสินค้าต่อไปได้ ก็อาจจะต้องหยุดการผลิตเนื่องจากเงินทุนไม่พอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการย่อยหรือเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้

ต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยประเมินว่าต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการใช้พลังงาน อยู่ที่ประมาณ 2-10% แล้วแต่ชนิดของอุตสาหกรรม จากช่วงก่อนปี 2560 ปัจจุบันต้นทุนน่าปรับขึ้น 3-15 % ภายใต้ราคาน้ำมันไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากการผลิตสินค้าจะมีการใช้พลังงานสอดแทรกในทุกส่วนของขั้นตอนการผลิตสินค้าในแต่ละชนิด 

ทั้งนี้ การควบคุมต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนที่แฝงอยู่ในภาคส่วนต่างๆไม่ขยับขึ้น เฉพาะในด้านพลังงานและโลจิสติกส์​ เพราะพลังงาน เป็นต้นทุนในสินค้าต้นทางทุกชนิดและหากระดับราคาน้ำมันลดลงได้เร็วจากการปรับสมดุลการผลิตพลังงานโดยรวม​ที่มากขึ้น และมีการแข่งขันที่สมบูรณ์​ขึ้น ความแตกต่างก็จะปรับลงมาในสัดส่วนเดิมได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันส่งผลต่อค่าขนส่งซึ่งคิดเป็น 10-15% ของต้นทุนผู้ประกอบการภาคการผลิต นอกจากนี้น้ำมันและแก๊สยังเป็นต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อรัฐใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 3 บาท จึงช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการลงไปได้ ที่สำคัญกว่านั้นยังเป็นวิธีการทางจิตวิทยาที่ช่วยชะลอการปรับราคาสินค้าแทบทุกชนิดที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นทั้งแผงตามไปด้วยในช่วง 3 เดือนนี้ จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะได้ข้อสรุปที่ดีกว่านี้