มาตรการ ”รถอีวี”ได้ฤกษ์เข้า ครม. เปิดเงื่อนไขส่วนลด 7 หมื่น - 1.5 แสนบาท/คัน

มาตรการ ”รถอีวี”ได้ฤกษ์เข้า ครม.  เปิดเงื่อนไขส่วนลด 7 หมื่น - 1.5 แสนบาท/คัน

“บอร์ดอีวี” ชง ครม.พรุ่งนี้ เคาะมาตรการส่งเสริมตลาด 3 ประเภท รถยนต์ กระบะ จักรยานยนต์ คันละ 7 หมื่น ถึง 1.5 แสนบาท “คลัง” เร่งหาแหล่งเงินจ่ายอุดหนุนซื้อผ่านค่ายรถ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ก.พ.2565 จะพิจารณามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะส่งเสริมการใช้อีวี 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะ โดยจะมีผลบังคับใช้เดือน พ.ค.นี้ และเมื่อผ่าน ครม.แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปออกกฎหมายและทำสัญญากับค่ายรถที่เข้าร่วม

 

สำหรับมาตรการดังกล่าวแบ่งเป็น2 ช่วง ได้แก่ปี 2565-2568ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ 

1.เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน

2.ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%

3.ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566

4.ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

ทั้งนี้ค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ 1.ผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ช่วงปี 2565-2566 ในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ผู้ใช้สิทธิ์จะผลิตBEV รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาทต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา

ส่วนหลักเกณฑ์การใช้สิทธิ์ ดังนี้ 1.ต้องเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศที่ทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยจะจ่ายอุดหนุนเงินและภาษีไปที่ผู้ประกอบการ2.ประเภทรถยนต์ครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะและรถจักรยานยนต์เฉพาะ BEV

ในขณะที่เงื่อนไขการใช้สิทธิ์และบทลงโทษ ดังนี้1.ต้องวางเงินค้ำประกันประกอบการใช้สิทธิ์ 2.หากไม่ปฏิบัติติตามเงื่อนไขต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย และยึดเงินค้ำประกันจากธนาคาร รวมทั้งไม่ได้สิทธิลดภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

สำหรับมาตรการการสนับสนุนรถยนต์ EV แบ่งเป็นรถ 3 ประเภท ได้แก่ 1.รถยนต์ไฟฟ้าราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท (ผลิตและประกอบในประเทศ) ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% (ปี 2565- 2568) เงินอุดหนุน (ปี 2565-2568) 70,000 บาท (ขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อ ชั่วโมง) 150,000 บาท (ขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป) และในปี 2567 ต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าในปี 2565-2566 โดยผลิตรถรุ่นใดก็ได้

ส่วนรถ EV ที่ราคาขายปลีกแนะนำ 2-7 ล้านบาท ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% (ปี 2565-2568) แต่ต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำข้ามาในปี 2565-2566 เท่านั้น 

ทั้งนี้ ผู้รับสิทธิ์มาตรการส่งเสริมทั้ง 2 รายการข้างต้นต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยผลิตรถยนต์ชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 หากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568 และต้องผลิตอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน)

2.รถกระบะราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ในปี 2565-2568 และเงินอุดหนุนปี 2565-2568 คันละ 150,000 บาท สำหรับรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีแบตเตอรี่ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะผลิตในประเทศ)

สำหรับเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิตามมาตรการส่งเสริมต้องทำสัญญากับกรมสรรพสามิตก่อนการขอใช้สิทธิผลิตรถยนต์กระบะประเภท BEV ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด โดยผู้ขอรับสิทธิต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำกับกรม สรรพสามิตเพื่อพิจารณา สำหรับรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ผู้ขอรับสิทธิต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบใน ประเทศ โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

3.รถจักยานยนต์กรณีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ได้สิทธิประโยชน์เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ทั้ง CKD และ CBU ระหว่างปี 2565-2568 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเสนอ ครม.อนุมัติลดภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเหลืออัตรา 40% , 20% และ 0% ขึ้นกับขนาดรถยนต์

ทั้งนี้ รถอีวีเครื่องยนต์ขนาดเล็กจะมีอัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่ารถเครื่องยนต์ใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้คนทั่วไปซื้อรถในราคาที่ต่ำลงมา สำหรับเงินอุดหนุนซื้อรถอีวีกำลังพิจารณาระดับที่เหมาะสม

ในขณะที่การให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องมีเงื่อนไขบริษัทผู้ผลิตรถต้องตั้งฐานการผลิตอีวีในไทย โดยหากนำเข้า 1 คัน ภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐให้ต้องผลิตอีวีในประเทศ 1.5 คัน โดยต้องมาตั้งฐานการผลิตภายใน 2-3 ปี หลังรับสิทธิประโยชน์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับเงินอุดหนุนที่จะให้แก่คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้านั้น คาดว่า จะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าโครงการรถยนต์คันแรกให้ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ โครงการรถยนต์คันแรกเป็นโครงการที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่ไม่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์ โดยกรมสรรพสามิตจะคืนเงินภาษีสรรพสามิตให้คันละไม่เกิน 1 แสนบาท

สำหรับปัญหาในเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า สำหรับรถยนต์อีวีนั้นเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้คนไม่สนใจในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อชาร์จไฟเต็มจะสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 400-500 กิโลเมตร

ขณะที่ระยะทางความยาวจากภาคใต้สุดถึงเหนือสุดของประเทศ มีความยาวเพียง 2 พันกว่ากิโลเมตร การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียง 40-50 สถานีก็สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศได้อยู่แล้ว