BAM เผยเจรจา 5-7 แบงก์ ร่วมทุนตั้ง AMC คาดชัดเจนครึ่งแรกปี 65

BAM เผยเจรจา 5-7 แบงก์ ร่วมทุนตั้ง AMC คาดชัดเจนครึ่งแรกปี 65

BAM เผยความคืบหน้าเจรจาสถาบันการเงินร่วมทุนตั้ง AMC บริหารหนี้ 5-7 ราย คาดหวังชัดเจนภายในครึ่งแรกปี 65 พร้อมตั้งเป้าหมายซื้อหนี้เข้ามาบริหารปีนี้ไม่ต่ำกว่า 9 พันล้าน

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้สถาบันการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจบริหารหนี้ (AMC) เพื่อบริหารหนี้เสียนั้น ปัจจุบันมีสถาบันการเงินเข้ามาเจรจากับบริษัทฯ แล้วประมาณ 5-7 ราย หนึ่งในนั้นมีธนาคารที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง 2 ราย (ไม่ใช่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFIs) และ AMC 1 ราย

เบื้องต้นตั้งเป้าหมายเห็นความชัดเจนภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 ภายหลังมีธนาคารที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง จัดพอร์ตหนี้เข้ามาให้บริษัทฯ พิจารณาแล้ว อย่างไรก็ดี ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท.บริษัทฯ สามารถจัดตั้ง JV ร่วมกับสถาบันการเงินได้มากกว่า 1 ราย ซึ่งอาจจะจัดตั้ง JV ตามจำนวนรายที่ตกลงได้ หรือหากบางรายตกลงใช้ JV เพื่อรับซื้อหนี้เสียร่วมกัน ก็สามารถทำได้

โดยยืนยันว่าบริษัทฯ จะพิจารณาจัดตั้ง JV เพื่อรับซื้อทั้งหนี้เสียที่มีหลักประกัน (NPA) และหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกัน (NPL) ซึ่งปกติแล้วสถาบันการเงินต่างๆ จะจัดพอร์ตหนี้ดังกล่าวมาให้บริษัทฯ พิจารณารวมกัน แต่บริษัทฯ จะนำมาแยกพิจารณารายชิ้นเพื่อประเมินราคาเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ของ BAM อยู่แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการในการบริหารหนี้ราว 10-15 ปี ซึ่งไม่เกินหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด

สำหรับรายละเอียดการจัดตั้ง JV ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. บริษัทฯ หรือสถาบันการเงินที่ร่วมจัดตั้ง สามารถถือหุ้นในสัดส่วนคนละ 49% และมีกลุ่มบุคคลที่ 3 เข้ามาถือหุ้นอีก 2% หรือถือหุ้นในสัดส่วนคนละ 50% ก็ได้ อย่างไรก็ดี อำนาจในการบริหารจะต้องไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือกัน ซึ่งอาจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการตั้งบุคคลที่ 3 เข้ามานั่งเป็นกรรมการของบริษัทร่วมทุน

ทั้งนี้ การจัดตั้ง JV จะช่วยรองรับหนี้เสียในระบบที่คาดว่าจะไหลออกมาไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาทในปี 2566 ภายหลังจบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.ในสิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นหนี้เสียที่เกิดจากผลกระทบช่วงโควิด-19 โดยการตั้ง JV ดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ มีศักยภาพรับซื้อหนี้เข้ามาบริหารโดยไม่กระทบอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท ขณะที่สถาบันการเงินจะได้ประโยชน์ในแง่กำไรที่ได้ในฐานะผู้ถือหุ้น

สำหรับแนวโน้มหนี้เสียในระบบปี 2565 ยอมรับว่าปรับตัวขึ้นสูงผิดปกติ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีหนี้เสียที่สถาบันการเงินนำออกมาเสนอขายในระบบแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายการซื้อหนี้เข้ามาบริหารปีนี้ (ไม่รวมหนี้ที่ได้รับจากการตั้ง JV) คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท (รวม NPA และ NPL) ใกล้เคียงกับในอดีต ซึ่งปกติบริษัทฯ จะรับซื้อหนี้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้อยู่แล้ว