เปิดคำพิพากษาศาลปกครองคดี รฟม. รื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองคดี รฟม. รื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม

เปิดคำพิพากษาศาลปกครอง ยกฟ้อง คดีบีทีเอส ฟ้อง รฟม. แก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้รฟม.แก้ไขไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่สร้างความเสียให้บีทีเอส

ศาลปกครองได้พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีกับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 และและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.

ทั้งนี้บีทีเอส ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

โดยศาลปกครอง ได้พิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลได้วินิจฉัยในประเด็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของคณะกรรมการคัดเลือกฯซึ่งผ่านความเห็นชอบจากมติของรฟม. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 63 ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเป็นการกระทำละเมิดต่อบีทีเอสหรือไม่ และคณะกรรมการคัดเลือก รฟม.ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บีทีเอสหรือไม่ เพียงใด

ในประเด็นแรก การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การร่วมทุนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ศาลเห็นว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิมได้กำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินในแต่ละด้านไว้แล้ว ในส่วนเกณฑ์ด้านเทคนิค ก็เป็นเกณฑ์ขั้นสูงแล้วที่กำหนดให้ต้องผ่านแต่ละด้าน 80 คะแนนและคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 85 ของทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลงานที่คุณภาพสูง ส่วนด้านราคา รัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิมของ รฟม จึงชอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม มาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการคัดเลือกในการแก้ไขหลักเกณฑ์ ในส่วนที่คณะกรรมการและ รฟม อ้างว่ามีอำนาจอื่นๆ ในการแก้ไขหลักเกณฑ์นั้น ตามมาตรา 38(7) เป็นอำนาจเพื่อดำเนินการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นอำนาจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพรบ.ร่วมลงทุนฯ โดยแท้เท่านั้น คณะกรรมการจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรานี้แก้ไขหลักเกณฑ์ได้

โดยในส่วนอำนาจตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ ข้อ 4(9) และข้อ 17.1 ที่อ้างว่าให้คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม สามารถแก้ไขหลักเกณฑ์ได้นั้น เห็นว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกเอกชน ( RFP) แม้ทำได้ แต่ก็ต้องไม่เกินขอบอำนาจตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าว นอกจากนั้นการแก้ไขการแก้ไขหลักเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกเอกชน ( RFP)เป็นส่วนสาระสำคัญซึ่งมีผลต่องบประมาณแผ่นดินที่ต้องใช้จ่ายจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจึงต้องดำเนินการเช่นเดียวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้ยื่นเสนอร่วมลงทุนกับรัฐฉบับแรกก่อนแก้ไข คือต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนที่เกี่ยวข้องตามประกาศกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน

แม้ว่า ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม .เห็นว่าการพิจารณาปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ( RFP)เป็นอำนาจของตนเองไม่จำเป็นต้องกลับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใหม่ และได้ใช้เวลาพิจารณาปรับปรุงเอกสารในหัวข้อการปรเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงินเพียง 9 วัน โดยไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงเห็นว่า  การแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการตัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่1 โดยการใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3  รวมกัน โดยแบ่งเป็นสัดส่วนคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนนและคณะซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน  เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่การเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเป็นการกระทำละเมิดต่อบีทีเอสหรือไม่ และคณะกรรมการคัดเลือก รฟม.ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บีทีเอสหรือไม่ เพียงใด นั้น

ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ระจะต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม. ได้แก่ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการเตรียมงานตั้งแต่ การประกวดราคา การยื่นซองประกวดราคา อย่างไรก็ดี ค่าเสียหายที่บีทีเอสมีคำขอตามคำฟ้องเพิ่มเติม  ได้แก่  ค่าจ้างที่ปรึกษา ทางเทคนิค  และที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย  เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการดำเนินการค้าตามปกติของบริษัท และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงว่าเกิดจากความเสียหายที่คณะกรรมการและ รฟม แก้ไขหลักเกณฑ์เอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1  โดยเป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีเอกสารหลักฐานระบุว่า ได้มีการลงทุนใช้จ่ายไปจริงแต่อย่างใด

 อีกทั้ง การแก้ไขหลักเกณฑ์ก็ไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ดังนั้น การอ้างว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ทำให้ต้องว่าจ้างที่ปรึกษาจึงไม่อาจรับฟังได้ เพราะไม่ใช่ความเสียหายโดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้