เอ็กซิมแบงก์เพิ่มวงเงินอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบออโตเป็น20ล้าน

เอ็กซิมแบงก์เพิ่มวงเงินอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบออโตเป็น20ล้าน

เอ็กซิมแบงก์ตั้งเป้าปีนี้อนุมัติสินเชื่อผ่านระบบออโตเมชั่นใน 3 ชั่วโมง เพิ่มวงเงินจากไม่เกิน 15 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ดันฐานลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่จาก 500 ราย เป็น 2.5 พันรายต่อปี หนุนสินเชื่อคงค้างให้ได้ 2 แสนล้านบาทภายในปี 67 พร้อมคุมหนี้เสียไม่เกิน 3.5%

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)เปิดเผยว่า ในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าจะทำให้กระบวนการอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัลหรือเครดิตสกอร์ริ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มวงเงินการอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบดังกล่าวจากปัจจุบันไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย และ มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 30 ล้านบาทต่อรายในระยะถัดไป

“เราจะทำให้การอนุมัติสินเชื่อผ่านเครื่องหรือระบบไอทีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ไม่ต้องผ่านการพิจารณาโดยพนักงานของเรา เพราะจะทำให้กระบวนการอนุมัติสินเชื่อมีความรวดเร็ว ปัจจุบัน การอนุมัติโดยระบบเครื่องนั้น สามารถทำได้ภายใน 3 ชั่วโมง ขณะที่ หากผ่านพนักงานจะอยู่ที่ 3 วัน ทั้งนี้ หากว่า เครดิตสกรอริ่งของลูกค้าผ่านที่ 75% ก็จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้เลย”

ทั้งนี้ เพื่อให้เป้าหมายการผลักดันให้เกิดฐานลูกค้าสินเชื่อใหม่เป็น 2.5 พันรายต่อปี จากปัจจุบันที่เราสามารถผลักดันให้เกิดฐานลูกค้าใหม่ได้เพียงปีละ 500 รายเท่านั้น

นายรักษ์กล่าวด้วยว่า ภายในปี 2567 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่กว่า 1.5 แสนล้านบาท ในเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว จะต้องมีสัดส่วนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่มีอนาคตถึง 75% ส่วนที่เหลือ 25% จะเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการผลักดันให้เป็นผู้ส่งออกในอนาคต

สำหรับคุณภาพหนี้นั้น เราตั้งเป้าหมายที่จะคุมระดับหนี้เสียให้ไม่เกิน 3.5%ของพอร์ตทั้งหมด โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะคุมให้หนี้เสียอยู่ที่ระดับไม่เกิน 3% จากสิ้นปี 2564  อยู่ที่ประมาณ 2.73%

“หนี้เสียปี 64 ลดลงจากปี 63 ที่อยู่ 3.81% เพราะเราคุมคุณภาพของลูกหนี้ได้ดี อย่างไรก็ดี นโยบายของเรานั้น หากเราไม่สามารถแก้ไขหนี้ได้ เราจะทำการขายหนี้ออกไปให้เอเอ็มซีเป็นผู้บริหารแทน ฉะนั้น ถ้าเราแก้ไม่ได้ เราก็จะขายหนี้เสียทุกปี”

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา เรามีผลกำไรประมาณ 1.5 พันล้านบาท มาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งจากกลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มดิจิทัล และ เฮลท์แคร์ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้ มีอัตราการเติบโตที่ดี

เขายังมองทิศทางการส่งออกในปีนี้ว่า น่าจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% จากปีก่อนที่โตได้สูงถึง 17% ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า เป็นทิศทางขาขึ้น โดยหากแบงก์อื่นปรับเพิ่ม ธนาคารเองก็คงจะต้องปรับเพิ่มเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราจะเป็นแบงก์ที่ปรับเพิ่มที่ช้าที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว

เขากล่าวด้วยว่า หากใช้สปีดในระดับเดิม ประเทศไทย จะต้องใช้เวลา 700 ปี จึงจะสามารถสร้างเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออก ได้เท่ากับเวียดนาม ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถผันตัวเอง เป็นผู้ส่งออกในตลาดโลกได้ ในปัจจุบันมีเพียง 3 หมื่นราย จากทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 3 ล้านราย  เทียบกับเวียดนาม ที่สามารถสร้างเอสเอ็มอีให้กลายเป็นผู้ส่งออกในปัจจุบัน ได้ถึง 8 หมื่นราย หรือ 10 % ของเอสเอ็มอีทั้งหมดของเวียดนาม ทั้งที่ในอดีตผู้บริหารจากเวียดนาม ต้องมาเรียนรู้วิธีการสร้างผู้ส่งออกจากประเทศไทย

“หากเรายังใช้ Speed เท่าเดิมเหมือนในอดีต คือ การอบรมเอสเอ็มอีเพื่อให้เป็นผู้ส่งออได้สำเร็จปีละ 50 คน เราจะต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงกรุงรัตนโกสินทร์ หรือราว 700 ปี จึงจะสามารถสร้าง SMEs ส่งออกได้เท่ากับเวียดนาม”