“ทีเส็บ” ลุยจัดงาน "แอร์โชว์" ชูธุรกิจการบินครบวงจร

“ทีเส็บ” ลุยจัดงาน "แอร์โชว์" ชูธุรกิจการบินครบวงจร

“ทีเส็บ” ประกาศจัด “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์” โชว์ศักยภาพสนามบิน “อู่ตะเภา” สู่สายตาโลก คาดการจัดงานรวม 5 ครั้งตั้งแต่ปี 68-76 ปั้นจีดีพี 4.5 พันล้านบาท พร้อมสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจจากการจัด 28 งานในพื้นที่ “อีอีซี” ปี 66-70 ได้มากถึง 8.2 พันล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์” (Thailand International Air Show) เป็นครั้งแรก ที่สนามบินอู่ตะเภา หลังทีเส็บริเริ่มเตรียมงานมา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดแสดง การค้าด้านอากาศยาน และเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยสู่ตลาดโลก ทั้งยังช่วยส่งเสริมไทยในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานของโลก โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ระบุว่าในปี 2561 ไทยส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์อากาศยานมากถึง 3,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 1 แสนล้านบาท

ย้อนไปยังการจัดงานดูไบแอร์โชว์เมื่อกลางปี 2564 แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 แต่มีมูลค่าการซื้อขายสินค้าทางอากาศยานและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นมูลค่ากว่า 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ผลจากการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้นำโลกยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมอากาศยาน สู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกิดเครื่องบินที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีการซื้อขายอากาศยานเชิงพาณิชย์มากถึง 43,000 ลำ (ไม่รวมอากาศยานเพื่อความมั่นคง) ทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมบริการด้านการบินจะขยายตัวเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ ทีเส็บ กล่าวว่า ไทม์ไลน์ของการจัดงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์ ภายใต้แนวคิด Future of Aerospace ในปี 2566 จะมีการจัดงานแถลงข่าวประกาศตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเตรียมตัวเข้าร่วมงาน ปี 2568 จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ควบคู่กับการจัดงานประชุมเชิงวิชากร งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และในปี 2570 จัดงานเต็มรูปแบบ เป็นระยะเวลา 6 วัน โดยจะจัดงานแอร์โชว์ในไทยทุกๆ 2 ปี

ทั้งนี้คาดการณ์การเติบโตของจีดีพี (GDP) ที่ได้จากการจัดงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์ รวม 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2568-2576 อยู่ที่ 4,482 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2568 มีจีดีพีที่ 300.58 ล้านบาท ปี 2570 มี 652.19 ล้านบาท ปี 2572 มี 867.78 ล้านบาท ปี 2574 มี 1,223.54 ล้านบาท และปี 2576 มี 1,438.24 ล้านบาท

และตั้งแต่ปี 2566-2570 จะมีการจัดงานในโครงการ Aviation & LOG-IN Week ทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่องจำนวน 28 งานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์ในช่วงเวลานั้น ทีเส็บคาดว่าจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้มากถึง 8,200 ล้านบาท

“งานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์ จะเป็นเหมือนลำโพงช่วยประกาศความพร้อมของสนามบินอู่ตะเภาก้าวสู่ระดับนานาชาติให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และแสดงศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านการบินของไทย ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องนี้”

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งและมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยพบว่าเมื่อปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 สนามบินหลัก 6 แห่งในประเทศไทยสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารกว่า 140 ล้านคนต่อปี มีปริมาณเที่ยวบินขาออกไปยังทั่วโลกมากถึง 450,000 เที่ยวบินต่อปี ทั้งประเทศมีปริมาณการใช้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นมูลค่ากว่า 36,500 ล้านบาทต่อปี และมีจำนวนอากาศยานที่จดเทียนในประเทศกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยถึง 679 ลำ

“การจัดงานแอร์โชว์นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประกาศศักยภาพอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ว่าไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว แต่สามารถเป็น Aviation Hub หรือศูนย์กลางด้านธุรกิจการบินอย่างครบวงจรอีกด้วย”

“ทีเส็บ” ลุยจัดงาน \"แอร์โชว์\" ชูธุรกิจการบินครบวงจร