รีเทิร์นเปิด "Test & Go" หนุนนักท่องเที่ยวขอ “ไทยแลนด์พาส” 5 วันแรก ทะลุ 1 แสนคน

รีเทิร์นเปิด "Test & Go" หนุนนักท่องเที่ยวขอ “ไทยแลนด์พาส” 5 วันแรก ทะลุ 1 แสนคน

“ททท.” กางยอดขอ “ไทยแลนด์พาส” สะสม 5 วันแรก ตั้งแต่ 1-5 ก.พ. มีจำนวนรวมกว่า 1.05 แสนคน ได้รับอนุมัติสะสมแล้ว 8.65 หมื่นคน หลังรัฐบาลรีเทิร์นเปิดระบบรับลงทะเบียนนักท่องเที่ยว Test & Go

ด้านนายกสมาคมโรงแรมไทย คาดยอดนักท่องเที่ยวเดือน ก.พ.ฟื้นตัวเท่า ธ.ค.64 วอน “คลัง” ผ่อนปรนและยืดเวลาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอย่างน้อย 2 ปีอุ้มธุรกิจโรงแรม

จากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ด้วยการกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go จากทุกประเทศ เริ่มวันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป พร้อมปรับเพิ่มเงื่อนไขที่เข้มงวดมากกว่าเดิม ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง และต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันที่ 1-5 หลังจากเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อการติดตามตัวมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการติดตามเฝ้าระวังการเดินทางเข้าประเทศ ณ วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 24.00 น. พบว่านับตั้งแต่รัฐบาลกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนเพื่อรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go อีกครั้ง เริ่ม 1 ก.พ. มีจำนวนผู้ขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) สะสม 5 วันแรก ระหว่างวันที่ 1-5 ก.พ.2565 รวม 105,612 คน ได้รับอนุมัติสะสมจากระบบ Thailand Pass Hotel & Swap System (TPHS) จำนวน 86,520 คน เฉพาะผู้ยื่นคำขอไทยแลนด์พาสใหม่วันที่ 5 ก.พ.มีจำนวน 14,527 คน ได้รับอนุมัติจำนวน 8,906 คน

และเมื่อแยกดูเป็นรายประเภทการเดินทางเข้าประเทศไทย พบว่าประเภท Test & Go มีจำนวนยื่นคำขอใหม่ 11,678 คน อนุมัติสะสมแล้ว 71,984 คน ประเภทแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ยื่นคำขอใหม่ 2,581 คน อนุมัติสะสม 13,039 คน และประเภทกักตัว (Quarantine) ยื่นคำขอใหม่ 268 คน อนุมัติสะสม 1,497 คน

สำหรับจังหวัดที่ตั้งโรงแรม 5 อันดับแรกที่มีจำนวนการขอไทยแลนด์พาสเข้าประเทศไทยมากที่สุด เฉพาะวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ มีจำนวนการขอ 6,867 คน จำนวนที่อนุมัติ 3,907 คน

อันดับ 2 จ.ภูเก็ต จำนวนการขอ 4,809 คน จำนวนที่อนุมัติ 2,920 คน

อันดับ 3 จ.ชลบุรี จำนวนการขอ 1,020 คน จำนวนที่อนุมัติ 608 คน

อันดับ 4 จ.สมุทรปราการ จำนวนการขอ 553 คน จำนวนที่อนุมัติ 441 คน

อันดับ 5 จ.สุราษฎร์ธานี จำนวนการขอ 469 คน และจำนวนที่อนุมัติ 222 คน

 

ทีเอชเอคาดทัวริสต์ ก.พ.65 ฟื้นเท่า ธ.ค.64

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทุกหน่วยงานยังคงปฏิบัติและต้องดำเนินการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งรัดกุม พร้อมต่อยอดภาคการท่องเที่ยวไทยในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการต่างๆ แต่ไม่ขัดต่อสถานการณ์ควบคุมโรคโควิด-19 ของทั่วโลก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี คาดการณ์ว่าในเดือน ก.พ.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ใกล้เคียงกับเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน มี.ค.นี้

 

วอนคลังยืดเก็บภาษีที่ดินฯ 2 ปีอุ้มโรงแรม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ทุเลา รายได้ยังฟื้นตัวช้ากลับมาไม่เหมือนเดิม และยังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน แต่หากว่ากระทรวงการคลังยังคงยืนยันไม่ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในการประกอบธุรกิจ รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความพร้อมที่จะชำระภาษี และส่งผลกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ ขาดสภาพคล่อง มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานอีกด้วย

สมาคมฯจึงขอให้รัฐบาลพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะ โดยขอผ่อนปรนและยืดเวลาการจัดเก็บออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์ของโควิด-19 และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ เกิดการจ้างงาน และดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

 

ดัชนีที่พักแรมชี้อัตราเข้าพัก ม.ค.ลดเหลือ 32%

นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้สมาคมฯได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ประจำเดือน ม.ค.2565 สำรวจระหว่างวันที่ 10-26 ม.ค.ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 200 แห่ง โดยข้อมูลจากโรงแรมจำนวน 175 แห่ง (ไม่รวมที่เป็นโรงแรมสำหรับกักตัวหรือ AQ 18 แห่ง และ Hospitel 7 แห่ง) พบว่า โรงแรม 42% ยังมีความกังวลต่อผลกระทบการแพร่ระบาดในระดับมาก ส่วน 44% กังวลปานกลาง อีก 10% กังวลน้อย และ 4% ไม่กังวล

ด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศเดือน ม.ค.อยู่ที่ 32% ลดลงจากเดือน ธ.ค.ที่ 37% โดยเป็นการปรับลดลงของโรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ และการยกเลิกการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รายใหม่ชั่วคราวเป็นสำคัญ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง สอดคล้องกับสัดส่วนของลูกค้าที่ยกเลิกการจองห้องพักที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ที่ยังได้รับอานิสงส์จากการรับนักท่องเที่ยวประเภทแซนด์บ็อกซ์ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักยังสูงกว่าภาคอื่น

“การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้เห็นลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักในเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกภูมิภาค โดยส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด ยกเว้นโรงแรมในภาคตะวันออกที่เกือบครึ่งมีลูกค้ายกเลิกการจองมากกว่า 50% ของยอดจองทั้งหมด”

 

โรงแรมเกือบครึ่งมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30%

ด้านสถานะกิจการในเดือน ม.ค.2565 มีโรงแรม 73% เปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงเดือน ธ.ค.2564 ที่ 74% จากการเปิดประเทศและรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้มีการยกเลิก Test & Go รายใหม่ชั่วคราวในช่วงปลายเดือน ธ.ค. ทั้งนี้โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนราว 3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป

ส่วนรายได้เดือน ม.ค.2565 โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงเดือน ธ.ค.64 แม้โรงแรมที่เปิดกิจการอยู่และรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 มีสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง แต่โรงแรมที่รายได้กลับมาไม่ถึง 30% ยังมีสัดส่วนราว 49% และมีโรงแรมเพียง 26% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก

ขณะเดียวกันในเดือน ม.ค.2565 โรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือน ธ.ค.2564 และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนอยู่ที่ 11% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลง ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 17% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 40-55%

 

อ้อนรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง-เพิ่มสิทธิ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

สำหรับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ต้องการจากภาครัฐ โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย มาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มจำนวนห้อง และระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนการจัดประชุมสำหรับองค์กร และด้านการตลาดหลังโควิด

ทั้งนี้โรงแรมบางส่วนต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ เงินช่วยเหลือพนักงานโรงแรมเพิ่มเติมในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เชียงใหม่ รีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวแบบปลอดเงินต้น สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เช่น ค่า ATK รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการเปิดประเทศ โดยมีมาตรการและสถานที่รองรับผู้ป่วยจากโควิดอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และทันเวลา หรืออาจทดลองเปิดการท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบอย่างน้อย 1 ไตรมาส ให้สามารถรับมือในการจัดการแพร่ระบาดได้ดีก่อน นอกจากนี้ควรมีความชัดเจนของมาตรการรัฐและการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าสู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวก่อนปฏิบัติจริงทั้งระบบที่รองรับการยื่นคำขอเข้าประเทศ และการจองคิวตรวจ RT-PCR